นครปฐม 23 ต.ค. – อธิบดีกรมชลประทานระบุเร่งจัดจราจรน้ำ ตัดยอดน้ำหลากที่จะไหลลงสู่แม่น้ำท่าจีน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนและเกษตรกรในลุ่มน้ำท่าจีน ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำเร่งระบายออกทะเลให้เร็วที่สุด
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า สั่งการให้นายพงศธร ศิริอ่อน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมโยธา (ด้านสำรวจและหรือออกแบบ) เร่งคลี่คลายอุทกภัยในลุ่มน้ำท่าจีนได้แก่ จ.สุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ซึ่งศูนย์นี้ตั้งอยู่ที่โครงการชลประทานนครปฐม จ. นครปฐม ทำหน้าที่บัญชาการ ประสานการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้กสรช่วยเหลือ แก้ไข และบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำท่าจีนมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ กรมชลประทานใช้ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งเหนือเขื่อนเจ้าพระยา จ. ชัยนาทช่วยบริหารจัดการ โดยลดการรับน้ำผ่านประตูระบายน้ำ (ปตร.) พลเทพ ซึ่งเป็นปากแม่น้ำท่าจีน) จากอัตรา 100 ลบ.ม./วินาที เหลือ 60 ลบ.ม./วินาที และจะทยอยลดลงตามลำดับ พร้อมกันนี้ได้ใช้คลองชลประทานฝั่งตะวันตกรับน้ำเพิ่มมากขึ้นได้แก่ คลองมะขามเฒ่า-อู่ทอง (คลอง มอ.) จากอัตรา 15 ลบ.ม./วินาที เป็น 25 ลบ.ม./วินาที และคลองมะขามเฒ่า-กระเสียว (คลอง มก.) จากอัตรา 8 ลบ.ม./วินาที เป็น 12 ลบ.ม./วินาที ด้านฝั่งตะวันออกเพิ่มการรับน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านปตร.มโนรมย์ จากอัตรา 120 ลบ.ม./วินาที เป็น 140 ลบ.ม./วินาที คลองชัยนาท-อยุธยา รับน้ำผ่าน ปตร.มหาราช จากอัตรา 31 ลบ.ม./วินาที เป็น 35 ลบ.ม./วินาที นอกจากนี้ ยังได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในแม่น้ำท่าจีนตามจุดต่างๆ เพื่อเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด
นายประพิศกล่าวต่อว่า ขณะนี้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจ.นครสวรรค์ลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แล้ว โดยเช้าวันนี้ (23 ต.ค.) ที่สถานี C.2 อ.เมืองนครสวรรค์ มีน้ำไหลผ่านอัตรา 2,592 ลบ.ม./วินาที ขณะที่น้ำในแม่น้ำสะแกกรังมีปริมาณลดลงเช่นกัน ทำให้ปริมาณที่ไหลลงสู่บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะทยอยลดลง ซึ่งจะเป็นผลให้ระดับน้ำที่ล้นตลิ่งทั้งในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนลดลงในระยะต่อไป
นายประพิศ กล่าวต่อว่า ขณะนี้ยังมีน้ำท่วมขังหลายพื้นที่เนื่องจากฝนที่ตกต่อเนื่องจากร่องมรสุมซึ่งกรมชลประทานใช้ระบบชลประทานในพื้นที่ตอนล่างทั้ง 2 ฝั่งเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยฝั่งตะวันออกที่มีการระบายน้ำผ่านคลองแนวตั้งต่างๆ ลงสู่ทะเล ส่วนหนึ่งจะผันระบายออกไปทางแม่น้ำนครนายกและแม่น้ำบางปะกงที่จะออกสู่อ่างไทย ส่วนด้านฝั่งตะวันตกจะใช้คลองระบายน้ำต่างๆในการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลเช่นกัน ร่วมกับการใช้ปตร.คลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริเร่งระบายน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาในช่วงน้ำทะเลลงอีกด้วย การดำเนินการทั้งหมดจะช่วยบรรเทาและลดผลกระทบต่อประชาชนทั้ง 2 ลุ่มน้ำ.- สำนักข่าวไทย