สถานีกลางบางซื่อ 27 ก.ย.- รมว.สธ.ร่วมตำรวจรถไฟสางปมทุจริตหัวคิวฉีดวัคซีนโควิด เมื่อปลาย ก.ค. คุมตัว 2 สามีภรรยาผู้ต้องหาขบวนการหัวคิวที่ศูนย์ฉีดบางซื่อ ทำแผนฯ สารภาพได้รับเงินจากหัวคิว 4 ล้านบาท ยันไม่แย่งคิวใคร แค่ช่วยเพื่อน ไม่เคยเรียกรับเงินคนเสนอให้เอง ขณะที่ “อนุทิน” ยันวัคซีนฟรีไม่มีเรียกเก็บ อย่ายอมรับขบวนการเรียกรับเงิน ตอนนี้วัคซีนมีมากพอ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข พร้อม พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ์ ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางชื่อ และพล.ต.ต.อำนาจ ไตรพจน์ ผบก.รฟ. แถลงข่าวการจับกุมผู้ต้องหาทุจริตจองคิวรับวัคซีนโควิด-19 ว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการขยายผลจากการจับกุมครั้งก่อน โดยสามารถจับกุมผู้ต้องหาได้รวม 7 คน ประกอบด้วย น.ส.ภคมน หอมภักดิ์, นายวิชญพงศ์ ธีรอังคณานนท์, นางสุรีนาฎ ปัทมวิชัยพร,นายจุมพล ศรียาภัย, นางสาวบัณฑิตา รุ่งสว่าง, นางสาวกรรติมา ยางทอง และนายหทัยชนก บริรักษ์ โดยผู้ต้องหาทั้งหมดให้การรับสารภาพ และถูกดำเนินคดีในข้อหาร่วมกันเข้าถึงข้อมูลโดยมิชอบ และฉ้อโกง โดยการเจ้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ คือ ข้อหาหลัก
นายอนุทิน กล่าวว่าสำหรับพฤติการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหากลุ่มนี้ คือ การเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะจิตอาสาที่รับช่วงต่อในการทำงานจากโอเปอร์เรเตอร์เครือข่ายมือถือ 4 เครือข่ายที่มาดำเนินการภายในศูนย์ฉีดวัคซีน โดยเริ่มพบความผิดปกติของกระบวนการฉีดวัคซีนตั้งแต่ช่วงปลาย มิ.ย. และก.ค. ที่มีจำนวนผู้มารับบริการจำนวนมากจากการเปิดให้ฉีดวัคซีนแบบวอล์กอิน โดยกระบวนการสวมสิทธินี้ ถูกจับได้จากการสังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ พบความผิดปกติในยอดผู้มาขอรับบริการการฉีดที่เพิ่มจำนวนมากผิดปกติ จากจำนวนผู้มารับบริการฉีดแบบองค์กร โดยยืนยันการฉีดวัคซีนนี้เป็นบริการที่ภาครัฐจัดหาและให้บริการการฉีดฟรีโดยไม่คิดมูลค่า หรือการฉีดฟรี และหวังว่าครั้งนี้จะเป็นบทเรียน และเครื่องเตือนความจำว่าการรับวัคซีนไม่ว่าที่ใดก็แล้วแต่ เป็นการให้บริการฟรี และขอให้ประชาชนอย่ายอมรับการเรียกรับใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือบุคคลอื่นใด เพราะวัคซีนฟรี พร้อมให้กรมแพทย์ตรวจสอบประวัติจิตอาสาที่เข้ามาช่วยผ่านเครือข่ายมือถือ เพื่ออุดช่องโหว่ของระบบ เพราะ 2 สามีภรรยาคู่นี้ไม่ใช่พนักงานของเครือข่ายมือถือโดยตรง และหวังตำรวจจับกุมขยายผล ดำเนินคดีถึงที่สุดเพื่อเป็นไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง
พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า ความผิดปกติครั้งนี้ถูกจับสังเกตได้ในเดือน ก.ค. อย่างเด่นชัด เริ่มตั้งแต่ 18 ก.ค. จากนั้นทยอยกันมา มีตั้งแต่วันละหลักร้อยคน จนถึงหลักพันคน และมากที่สุดในวันที่ 28 ก.ค. ที่มีการลงทะเบียนทุจริตรับการฉีดวัคซีนมากถึง 2,800 คน จึงประสานตร.รถไฟ เข้าดำเนินการจับกุม โดยรอเวลาให้ผู้มารับวัคซีนตามนัดหมายมาครบ จากนั้นทำการยกเลิก และสามารถจับประชาชนที่มีนัดหมายมารับวัคซีนในขบวนการนี้เพื่อกันไว้เป็นพยานรวม 600 คน ทั้งนี้กระบวนการทุจริตที่เกิดขึ้น มาจากการอนุมัติให้คนนอกสามารถอัพโหลดข้อมูลประชาชนในการรับวัคซีนได้ โดยเริ่มจากการญาติหรือคนใกล้ชิดก่อน ทั้งนี้ปัจจุบันได้มีการยกเลิกระบบที่ให้บุคคลภายนอก กรอกข้อมูลในระบบได้แล้ว เพื่อเป็นการป้องกันโดยคาดว่ามีมูลค่าความเสียหายจากเหตุการณ์ครั้งนี้รวม 7 ล้านบาท
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้คุมตัว 2 สามีภรรยา ผู้ต้องหาในคดี ได้แก่ น.ส.ภคมน หอมภักดิ์, นายวิชญพงศ์ ธีรอังคณานนท์ มาทำแผนประกอบคำรับสารภาพ โดยน.ส.ภคมน กล่าวระหว่างทำแผนประกอบคำรับสารภาพ ว่า การใส่ชื่อคนอื่นเพิ่มในระบบ เพราะต้องการช่วยเหลือคนรู้จักและเพื่อนเพราะช่วงนั้นวัคซีนเข้ามาในประเทศไม่มากก็อยากให้เพื่อนได้รับวัคซีนเร็ว แรกๆ ก็ไม่ได้รับเงินแต่เนื่องจากมีเพื่อนบอกต่อๆ กันไปจึงมีคนมาให้ช่วยทำและเสนอว่าจะให้เงิน ตนก็รับรายละ 200 บาท ส่วนที่ข่าวระบุว่าได้รับค่าตอบแทนรายละ 1,000 บาท เป็นการบอกต่อๆ กันและบวกเพิ่มกันเอง รายได้ที่ได้ยอมรับว่าได้มาประมาณ 3-4 ล้านบาท ส่วนเงินที่ได้มานั้นนำไปใช้หนี้เพราะเงินที่ได้รับจากการทำงานที่ศูนย์วัคซีนบางซื่อในฐานะจิตอาสา วันละ 500 บาทไม่พอ พร้อมยืนยันสิ่งที่ทำลงไปไม่ได้เป็นการแย่งคิวหรือแย่งสิทธิใครเพียงแต่นำชื่อเข้าระบบ เนื่องจากทราบมาว่าศูนย์วัคซีนบางซื่อเป็นศูนย์ที่ได้รับวัคซีนมากที่สุดในประเทศไทย.-สำนักข่าวไทย