กรุงเทพฯ 23 ก.พ. – โรงงานน้ำตาล ชาวไร่อ้อย และภาครัฐ ได้ข้อสรุปตัวเลขปริมาณสต๊อกน้ำตาลทราย 2.5 แสนตัน เชื่อเพียงพอต่อการบริหารความเสี่ยงน้ำตาลขาดแคลน หลังลอยตัวราคาในประเทศ
คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้ข้อสรุปแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทรายตามตลาดโลกและเลิกระบบโควตาน้ำตาลทราย ก. ข. และ ค. ตามที่ ครม. ได้มีมติไว้ ซึ่งทั้งชาวไร่อ้อย โรงงานน้ำตาลและภาครัฐ เห็นพ้องตั้งสำรองน้ำตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) เดือนละ 2.5 แสนตันจนถึงฤดูหีบใหม่ เชื่อเป็นเกณฑ์ที่เหมาะสม และเพียงพอต่อการบริโภค โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องกำหนดกรอบการหาราคาอ้างอิง เพื่อนำมาใช้คำนวณราคาอ้อย และจะได้หารือแนวทางปฏิบัติร่วมกันต่อไป
นายสิริวุทธิ์ เสียมภักดี ประธานคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย เปิดเผยว่า กอน. ได้ข้อสรุปแนวทางลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก และการยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. ข. และ ค. ซึ่งทุกฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะยกเลิกโควตาน้ำตาล ก. ข. และ ค. เพื่อเปิดเสรีน้ำตาลทรายให้สอดคล้องกับหลัก WTO โดยเห็นชอบตรงกันให้ปรับมาใช้วิธีการสต๊อกน้ำตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงป้องกันภาวะน้ำตาลทรายในประเทศขาดแคลน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศได้
แต่ยังมีรายละเอียดบางประเด็น ที่โรงงานน้ำตาลทรายต้องหาข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอีกครั้งในแนวทางปฏิบัติ และมั่นใจว่าจะไม่เกิดภาวะขาดแคลนน้ำตาลบริโภคในประเทศหลังการยกเลิกโควตา และปล่อยราคาน้ำตาลทรายในประเทศลอยตัวตามกลไกตลาด เนื่องจากไทยเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายถึง 3 ใน 4 ของปริมาณผลผลิตและมีการตั้งปริมาณสต็อกที่โรงงานต้องจัดเก็บสำรองไว้แต่ละเดือนไม่น้อยกว่า 2.5 แสนตันจนถึงฤดูการผลิตใหม่ ซึ่งโรงงานน้ำตาลทรายพร้อมจะปฏิบัติเพื่อดูแลผู้บริโภค
“เนื่องจากการจัดสรรโควต้าจำหน่ายที่มีการขึ้นงวดเป็นรายสัปดาห์ตามระบบเดิมในปัจจุบัน มีน้ำตาลที่ขึ้นงวดแล้วยังค้างจำหน่ายในแต่ละเดือนประมาณ 2 แสนตัน ซึ่งใกล้เคียงกับตัวเลขสต๊อกที่ กอน. กำหนดที่เดือนละ 2.5 แสนตัน เพื่อการันตีความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคว่าจะมีน้ำตาลทรายเพียงพอต่อการบริโภคอย่างแน่นอน” นายสิริวุทธิ์ กล่าว
ส่วนแนวทางการลอยตัวราคาน้ำตาลทรายให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลกนั้น โรงงานน้ำตาลทรายและชาวไร่ต่างเห็นพ้องกันที่จะให้ปล่อยราคาน้ำตาลทรายในประเทศลอยตัวตามตลาดโลก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค โดยเห็นพ้องกันในกรอบการหาราคาอ้างอิงเพื่อนำมาใช้คำนวณราคาต้นทุนอ้อย โดยใช้ราคา Export parity คือ อิงราคาน้ำตาลทรายขาวตลาดล่วงหน้า ลอนดอน บวกพรีเมี่ยม โดยจะหารือในรายละเอียดต่อไป ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายทราย (สอน.) จะได้รายงานความคืบหน้าในเรื่องนี้ พร้อมกับการเสนอ ครม. แก้ไข พรบ. อ้อยและน้ำตาลทราย ให้ฝ่ายบราซิลทราบ ในการเจรจาสองฝ่ายอีกครั้งในช่วงต้นเดือนมีนาคมนี้ – สำนักข่าวไทย