เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 2 ฟื้นตัวมากกว่าคาด

โตเกียว 15 ส.ค.- เศรษฐกิจของญี่ปุ่นในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้ขยายตัวถึงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบเป็นรายปี ถือว่าขยายตัวมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจากช่วงไตรมาสแรก เป็นผลมาจากการจับจ่ายของภาคเอกชนฟื้นตัว ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ของไตรมาสเดือนเมษายน-มิถุนายนขยายตัวร้อยละ 3.1 สูงกว่าที่ตลาดคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.1 หลังจากเมื่อช่วงไตรมาสแรกหดตัวลงร้อยละ 2.3  การบริโภคของภาคเอกชนที่ครองสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของจีดีพีปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 1 ซึ่งเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ส่งผลให้จีดีพีไตรมาส 2 ฟื้นตัว ตัวเลขเหล่านี้สนับสนุนสิ่งที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่น หรือบีโอเจ (BOJ) คาดการณ์ไว้ว่า การที่เศรษฐกิจฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งจะช่วยให้อัตราเงินเฟ้อเป็นไปตามเป้าที่ร้อยละ 2 เปิดทางให้บีโอเจสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีกในอนาคต หลังจากเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากร้อยละ 0-0.1 เป็นร้อยละ 0.25.-816(814).-สำนักข่าวไทย

ญี่ปุ่นยืนยันยังไม่ขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหม่

โตเกียว 7 ส.ค.- รองผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ (BOJ) เผยว่า บีโอเจจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ตลาดการเงินกำลังอ่อนไหว นายอูชิดะ ชินอิจิ รองผู้ว่าการบีโอเจเปิดเผยระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ในวันนี้ว่า ทางธนาคารจะยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในยามที่ตลาดการเงินกำลังอยู่ในสภาวะอ่อนไหว โดยย้ำว่า จำเป็นต้องคงการผ่อนคลายทางการเงินด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับปัจจุบันต่อไป นายอูชิดะกล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ของญี่ปุ่นและอีกของหลายประเทศกำลังอยู่ในสภาพอ่อนไหวอย่างยิ่ง บีโอเจกำลังจับตาการเคลื่อนไหวในตลาดและผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด และจะดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม ก่อนนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บีโอเจได้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนมีนาคม ทำให้นักลงทุนเฝ้าจับตาท่าทีของบีโอเจอย่างใกล้ชิดเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคต นักลงทุนบางคนมองว่า การที่นายอูเอดะ คาซูโอะ ผู้ว่าการบีโอเจเคยส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยเพิ่มเติม เป็นสาเหตุหนี่งที่ทำให้ตลาดหุ้นปั่นป่วน.-812(814).-สำนักข่าวไทย

นิกเกอิญี่ปุ่นปิดร่วงในวันเดียวหนักกว่าช่วงโควิด

โตเกียว 2 ส.ค.- ดัชนีนิกเกอิ 225 ของตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดลดลงร้อยละ 5.81 ในวันนี้ เป็นการปิดลดลงมากที่สุดในวันเดียวนับตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ระบาด ดัชนีนิกเกอิปิดที่ 35,909.70 จุด ลดลง 2,216.63 จุด หรือร้อยละ 5.81 เป็นการลดลงต่ำกว่า 36,000 จุดเป็นครั้งแรกนับจากวันที่ 31 มกราคม ดัชนีนิกเกอิปิดต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี ตามหลังตลาดวอลล์สตรีทที่ปิดร่วงหนักเมื่อวานนี้ และเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับความไม่มั่นใจว่า อัตราดอกเบี้ยในประเทศจะปรับตัวสูงขึ้นมากเพียงใด หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ (BOJ) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นร้อยละ 0.25 ถือว่ามากที่สุดในรอบ 15 ปี และเปิดเผยรายละเอียดแผนการชะลอการซื้อพันธบัตรครั้งใหญ่.-814.-สำนักข่าวไทย  

เยนหลุด 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐครั้งแรกในรอบ 34 ปี

สิงคโปร์ 29 เม.ย.- เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงทำสถิติครั้งใหม่ในรอบ 34 ปี โดยอ่อนค่าต่ำกว่า 160 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นครั้งแรกในการซื้อขายที่ตลาดสิงคโปร์ในวันนี้ ดอลลาร์สหรัฐแตะ 160 เยน เป็นครั้งแรกนับจากเดือนเมษายน 2533 โดยแข็งค่าขึ้นจาก 158 เยน ท่ามกลางการซื้อขายเบาบางที่ตลาดสิงคโปร์ เนื่องจากตลาดเงินตลาดทุนในญี่ปุ่นปิดทำการในวันนี้ เพราะตรงกับวันหยุดประจำปีเนื่องในวันโชวะ ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นแห่งยุคโชวะ อย่างก็ดี ดอลลาร์สหรัฐได้อ่อนค่าลงรวดเร็วไปทดสอบระดับ 155 เยน เนื่องจากมีกระแสวิตกว่าทางการญี่ปุ่นจะเข้ามาแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินเยน นอกจากนี้เงินเยนยังอ่อนค่าลงแตะ 177 เยนต่อยูโร อ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการใช้สกุลเงินยูโรในปี 2542 เงินเยนยังคงถูกเทขายอย่างหนัก หลังจากธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ตัดสินใจเมื่อวันศุกร์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นายคาซุโอะ อุเอะดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายว่า ยังไม่เห็นว่าการที่เงินเยนอ่อนค่าลงในช่วงนี้มีผลกระทบใหญ่ต่อราคาสินค้าและบริการ.-814.-สำนักข่าวไทย

ค่าเงินเยนอ่อนตัวต่ำที่สุดในรอบ 34 ปี

ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ระดับต่ำที่สุดในรอบ 34 ปีในวันพุธ ที่ 151.97 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะดีดตัวขึ้นเล็กน้อยหลังจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านการเงินประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับการที่ค่าเงินเยนอ่อนตัวอย่างรวดเร็วและระบุว่า พร้อมที่จะเข้าแทรกแซงเพื่อพยุงค่าเงินเอาไว้

ธนาคารกลางญี่ปุ่นยุติดอกเบี้ยติดลบ

โตเกียว 19 มี.ค.- ธนาคารกลางของญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ประกาศยุติการใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบที่ใช้มานาน 8 ปี และมาตรการอื่น ๆ ในวันนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนนโยบายครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากมุ่งกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยมาตรการทางการเงินขนานใหญ่มาหลายสิบปี บีโอเจประกาศในวันนี้โดยเป็นไปตามที่ตลาดคาดหมายว่า ได้ตัดสินใจยุตินโยบายที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2559 เรื่องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมร้อยละ 0.1 กับเงินสำรองส่วนเกินบางส่วนที่สถาบันการเงินฝากไว้กับบีโอเจ และได้กำหนดให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมข้ามคืนระหว่างธนาคารเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายใหม่ โดยให้เคลื่อนไหวในกรอบร้อยละ 0-0.1 เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ชี้ก่อนหน้านี้ว่า จะถือว่าเป็นการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากในเชิงสัญลักษณ์ แม้ว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจน้อยมากก็ตาม บีโอเจยังได้ตัดสินใจยุตินโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control) ที่ใช้ควบคุมอัตราดอกเบี้ยระยะยาวให้อยู่ในกรอบร้อยละ 0 มาตั้งแต่ปี 2559 แต่จะเดินหน้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในจำนวนเท่ากับที่ผ่านมา และซื้อเพิ่มในกรณีที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันได้ตัดสินใจยุติการซื้อสินทรัพย์เสี่ยง เช่น กองทุนเปิดที่ซื้อขายได้ในตลาดหลักทรัพย์หรืออีทีเอฟ (ETF) กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือกองรีท (REITs).-814.-สำนักข่าวไทย  

ธนาคารญี่ปุ่นสอน พนง.รับมือยุคดอกเบี้ยไม่ติดลบ

โตเกียว 18 มี.ค.- ธนาคารระดับภูมิภาคในญี่ปุ่นเปิดการอบรมออนไลน์ให้แก่พนักงานที่ยังไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานในยุคดอกเบี้ยไม่ติดลบ ตามที่ตลาดคาดหมายว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) จะยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มานาน 8 ปีในเร็ว ๆ นี้ แบงก์ออฟเกียวโต ซึ่งมีสาขาส่วนใหญ่อยู่ในภูมิภาคคันไซทางตอนใต้ของเกาะฮอนชูที่เป็นเกาะหลักของญี่ปุ่น เปิดอบรมออนไลน์ให้แก่พนักงานประมาณ 3,300 คน อธิบายเรื่องความสำคัญของดอกเบี้ย การกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ผลกระทบต่อธุรกิจของธนาคารและต่อลูกค้าในกรณีที่ดอกเบี้ยปรับขึ้น นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารอาวุโสมาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานในยุคดอกเบี้ยสูง ฝ่ายบริหารทรัพยากรบุคคลของแบงก์ออฟโตเกียวเผยว่า ธนาคารต้องการให้พนักงานอายุน้อยเข้าใจสภาพการณ์ในยุคที่พวกเขาจะได้เห็นดอกเบี้ยไม่ติดลบเป็นครั้งแรกในชีวิตการทำงาน บีโอเจขึ้นดอกเบี้ยครั้งหลังสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2550 และเริ่มใช้นโบายอัตราดอกเบี้ยติดลบมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 อย่างไรก็ดี บีโอเจเตรียมจะยุตินโยบายนี้เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทรงตัวที่ร้อยละ 2 ตามเป้าหมาย โดยจะขึ้นดอกเบี้ยที่ปัจจุบันติดลบร้อยละ 0.1 เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอยู่ที่ร้อยละ 0 ถึง -0.1 ที่ผ่านมาบีโอเจใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมาโดยตลอดแม้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกพากันขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ.-814.-สำนักข่าวไทย

สส. รัฐบาลญี่ปุ่นเรียกร้องแบงก์ชาติเลิกใช้ดอกเบี้ยติดลบ

โตเกียว 30 ม.ค.- สมาชิกสภาพรรครัฐบาลญี่ปุ่นแสดงความเห็นว่า ธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ซึ่งเป็นธนาคารกลางควรยุติการใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ นายชิเกรุ อิชิบะ สส. และอดีตเลขาธิการพรรคเสรีประชาธิปไตยหรือแอลดีพี (LDP) ที่ทรงอิทธิพล วัย 66 ปี กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า นโยบายดอกเบี้ยติดลบเป็นนโยบายสุดโต่งที่ไม่ควรมีอยู่ตั้งแต่ต้น ต่อข้อถามว่าบีโอเจควรยุตินโยบายนี้โดยเร็วหรือไม่ นายอิชิบะกล่าวว่า เขาเชื่อว่าควรเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ดี เขาย้ำว่า จะไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยอย่างฉับพลัน แต่จำเป็นต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วนว่า จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตและทบทวนนโยบายการเงินปัจจุบันอย่างไร บีโอเจคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ติดลบ 0.1 และผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 10 ปีที่ 0 มาตั้งแต่ปี 2559 เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และทำให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปแตะร้อยละ 2 ตามเป้าหมาย อันเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายเศรษฐกิจสมัยนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะหรือที่เรียกว่า อาเบะโนมิกส์ นายอิชิบะกล่าวด้วยว่า หากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐที่จะมีขึ้นในปลายปีนี้ สหรัฐอาจจะใช้นโยบายปกป้องทางการค้ามากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่พึ่งพาการส่งออก.-814.-สำนักข่าวไทย

เงินเฟ้อญี่ปุ่นเดือน ต.ค.สูงสุดในรอบ 40 ปี

โตเกียว 18 พ.ย.- อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมปีนี้แตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี เป็นผลจากราคาเชื้อเพลิงปรับตัวสูงขึ้นและเงินเยนอ่อนค่าลง เพิ่มแรงกดดันให้ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ต้องทบทวนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขีด ข้อมูลของรัฐบาลญี่ปุ่นระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานซึ่งไม่รวมอาหารสดที่มีความผันผวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 ต่อปีในเดือนตุลาคม สูงที่สุดนับจากปี 2525 แต่ยังคงต่ำกว่าหลายประเทศรวมทั้งสหรัฐ นายฮิโรกาซุ มัตสึโนะ หัวหน้าเลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นตอบข้อถามเรื่องตัวเลขเงินเฟ้อว่า ราคาที่ปรับตัวสูงขึ้นเชื่อมโยงกับสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันอย่างอาหารและสาธารณูปโภค เนื่องจากวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้นและเงินเยนอ่อนค่าลง รัฐบาลจะปกป้องความเป็นอยู่ของประชาชน ด้วยการบรรจุนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาราคาพลังงานและอาหารสูงขึ้นไว้ในมาตรการบรรเทาทุกข์ และจะผลักดันงบประมาณพิเศษดังกล่าวออกมาโดยเร็วที่สุด รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเมื่อเดือนตุลาคมว่า จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 260,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.32 ล้านล้านบาท) ซึ่งมีมาตรการอุดหนุนค่าไฟฟ้ารวมอยู่ด้วย ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมา 14 เดือนติดต่อกันแล้ว เพิ่มแรงกดดันให้บีโอเจต้องทบทวนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสุดขีดที่ใช้มานาน บีโอเจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับต่ำมากหวังกระตุ้นเศรษฐกิจที่เหวี่ยงไปมาระหว่างภาวะเงินเฟ้อต่ำและภาวะเงินฝืดมาตั้งแต่คริสต์ทศวรรษ 1990 และแม้ว่าเงินเฟ้อในขณะนี้สูงกว่าเป้าหมายร้อยละ 2 ที่บีโอเจกำหนดไว้ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา บีโอเจยังคงมองว่า ราคาสินค้าแพงขึ้นในขณะนี้เป็นเรื่องชั่วคราว จึงไม่จำเป็นต้องทบทวนนโยบาย.-สำนักข่าวไทย

IMF ชี้เยนอ่อนค่าเร็วอาจกระทบเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัว

วอชิงตัน 25 เม.ย.- กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ (IMF) เตือนว่า เงินเยนญี่ปุ่นที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อาจเป็นอุปสรรคต่อการที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวอย่างมั่นคงจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 นายรานิล ซัลกาโด หัวหน้าคณะทำงานด้านญี่ปุ่นของไอเอ็มเอฟให้สัมภาษณ์สำนักข่าวเกียวโดนิวส์ของญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ว่า เยนที่อ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปีเมื่อสัปดาห์ที่แล้วสะท้อนภาพธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ที่ยังคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย สวนทางกับธนาคารกลางเศรษฐกิจใหญ่อื่น ๆ ที่พากันดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด เขามองว่า บีโอเจควรคงนโยบายนี้ต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมายที่ร้อยละ 2 เพราะอัตราเงินเฟ้อจะลดลงทันทีที่ราคาสินค้าโภคภัณฑ์นำเข้าเริ่มลดลง อัตราเงินฟ้อญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 จากปีก่อน เร็วที่สุดในช่วง 2 ปี แต่ยังคงห่างจากเป้าหมายอยู่มาก อย่างไรก็ดี เยนที่อ่อนค่าอย่างรวดเร็วอาจทำให้ความต้องการในประเทศลดลง และสินค้านำเข้ามีราคาแพงขึ้น เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงแล้วเกือบร้อยละ 15 ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม โดยหลุดแนวรับที่ 129 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐไปเมื่อวันพุธที่แล้ว ปกติแล้วเยนที่อ่อนค่าจะเป็นผลดีต่อการส่งออก เพราะจะทำให้ได้กำไรมากขึ้นเมื่อแลกเงินต่างประเทศกลับเป็นเงินเยน และทำให้สินค้าญี่ปุ่นมีราคาถูกเมื่อเทียบกับสินค้าประเทศอื่น แต่ขณะเดียวกันจะเป็นผลเสียต่อญี่ปุ่นที่ต้องนำเข้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ เพราะต้องจ่ายแพงขึ้น คาดว่าบีโอเจจะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไปในการประชุมวันพุธและวันพฤหัสบดีนี้.-สำนักข่าวไทย

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติญี่ปุ่นชี้ต้องใช้การเงินผ่อนคลายต่อไป

นิวยอร์ก 23 เม.ย.- ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ชี้ว่า ญี่ปุ่นจำเป็นต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อไป หลังจากเกิดกระแสวิตกมากขึ้นว่า นโยบายนี้ทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ผู้ว่าการบีโอเจกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ระหว่างไปร่วมการประชุมการเงินสากลหลายแห่งในนครนิวยอร์กของสหรัฐว่า สภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นและสหรัฐมีความแตกต่างกันอย่างมาก บีโอเจจำเป็นต้องเดินหน้านโยบายการเงินแบบผ่อนคลายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต่อไป เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อของญี่ปุ่นเกิดจากวัตถุดิบขึ้นราคาและการขาดความยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายนโยบายระยะยาวให้อัตราเงินเฟ้อทรงตัวที่ร้อยละ 2 นายคุโรดะกล่าวว่า เศรษฐกิจและตลาดแรงงานของญี่ปุ่นยังคงฟื้นตัวช้ามากเมื่อเทียบกับสหรัฐ ญี่ปุ่นขาดแคลนทรัพยากรจึงมีความอ่อนไหวมากกว่าประเทศอื่นเมื่อวัตถุดิบขึ้นราคาและเกิดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเรื่องรุกรานยูเครน การคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายจึงช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นวงจรเศรษฐกิจเชิงบวกได้ อย่างไรก็ดี เขายืนยันว่า จะไม่ดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากไปกว่าปัจจุบัน เพราะเศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้เปราะบางมากขนาดนั้น และไม่ได้พูดเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนแต่อย่างใด แนวทางของบีโอเจที่แตกต่างอย่างมากจากธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด (Fed) ที่ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้งจนถึงสิ้นปีนี้เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อสูง ส่งผลให้เยนเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าที่สุดในรอบ 20 ปีครั้งใหม่ ด้วยการหลุดแนวต้านที่ 129 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในการซื้อขายที่ตลาดโตเกียวเมื่อวันที่ 20 เมษายนที่ผ่านมา.-สำนักข่าวไทย

บีโอเจขยายมาตรการกระตุ้นทางการเงินเดือนที่สองติดต่อกัน

ธนาคารกลางญี่ปุ่นหรือบีโอเจ (BOJ) ขยายมาตรการกระตุ้นทางการเงินเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในวันนี้ เพื่อช่วยภาคธุรกิจที่ตึงตัวด้านเงินทุนและสนับสนุนการใช้จ่ายมหาศาลของรัฐบาล

1 2
...