สธ. 30 มิ.ย.-อธิบดีกรมแพทย์ ระบุเตียงรักษาโควิด-19 ใน กทม.ยังตึง ย้ำแนวทางHome Isolation ใช้เมื่อจำเป็น แม้ผู้ป่วยสมัครใจรับรักษา แต่ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ หลังมีผู้ป่วย 30 คนต้องการ Home Isolation ขณะที่กลุ่มโรงเรียนแพทย์ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ และ รพ.เอกชน เร่งขยายเตียงรอรับผู้ป่วย
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวย้ำ แนวทางการรักษาตัวที่บ้านระหว่างรอเตียง หรือ Home Isolation ว่า เงื่อนไขของการรักษานี้จะใช้ระหว่างการรอเตียงในโรงพยาบาลและใช้ในผู้ป่วยสีเขียวที่มีอาการเล็กน้อยเท่านั้น โดยมี สปสช.สนับสนุนงบประมาณ ตกรายละ1,000 บาทให้กับโรงพยาบาลไว้ซื้ออุปกรณ์ดูแล ทั้งปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจน และค่าอาหาร 3 มื้อที่โรงพยาบาลจะเป็นผู้ประสานกับ ร้านอาหารในการจัดส่ง เบื้องต้นในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ มีผู้สมัครใจต้องการใช้แนวทางการรักษาพยาบาลที่บ้าน 30 คน แต่สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับการรักษาแบบนี้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้หลายโรงพยาบาลทั้งสังกัดกรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ เร่งขยายเตียงให้เพียงพอ โดยกลุ่มโรงเรียนแพทย์ ทั้ง รพ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ,รพ.รามาธิบดี (พญาไท) และวชิรพยาบาล ซึ่งเป็นโรงพยาบาลรับผู้ป่วยสีแดงจะขยายเตียงเพิ่มอีก 50 เตียงและสถาบันมะเร็งและโรงพยาบาลเอกชนก็ขยายฮอสพิเทลเพิ่ม ส่วนสถานการณ์เตียงในกทม.ในขณะนี้ยอมรับว่ายังตึงอยู่
ส่วนทางแนวทางการใช้ Community Isolation การรักษาผู้ป่วยโควิดในชุมชน เบื้องต้น สปสช.ได้มีการอนุมัติงบประมาณ เป็นค่าชุด PPE ในการตรวจดูแลผู้ป่วย ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้จะแตกต่างกับ Home Isolation เนื่องจากมีบ้านพักในชุมชน หรืออาศัยอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก ทำให้ไม่สามารถแยกกักตัว เพื่อรอโรงพยาบาลได้ ทำให้ต้องใช้พื้นที่ ชุมชนส่วนกลาง เช่น วัด หรือหอประชุมโรงเรียน .-สำนักข่าวไทย