แพทย์จุฬาฯ เริ่มแล้วทดลองวัคซีนโควิดรุ่นแรกในมนุษย์

อาคารภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาฯ 14 มิ.ย.-แพทย์จุฬาฯ เริ่มทดสอบการฉีดวัคซีนให้อาสาสมัครผู้ผ่านการคัดกรองที่มีสุขภาพดีระยะที่ 1 และต่อเนื่องในระยะที่ 2 เพื่อดูการตอบสนองของภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน ChulaCov19 ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ พยาบาล ทีมนักวิจัย


ศ.นพ.สุทธิพงศ์ วัชรสินธุ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในประเทศไทย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเตรียมความพร้อมของสถานที่ แพทย์ พยาบาล บุคลากร เทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัย มีมาตรฐาน นำมาใช้ในการตรวจคัดกรองและรักษาประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้มีศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถาบันการวิจัยทางการแพทย์ที่ได้รับความร่วมมือจากนักวิจัยทางการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและระดับโลกมาร่วมกันพัฒนา วิจัย ต่อยอด คิดค้น ผลิตวัคซีน เพื่อใช้ในการป้องกันโรคต่างๆ ให้กับประชาชน

โดยล่าสุด การพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ในวันนี้ (14 มิ.ย.) เป็นวันแรกที่ทดสอบในอาสาสมัครในระยะที่ 1 และต่อเนื่องไปในระยะที่ 2 ภายใต้การควบคุมดูแลจากหลายภาคส่วนรวมถึงมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และมั่นใจในความปลอดภัยสูงสุดของการทดสอบฉีดวัคซีน


“ต้องขอบคุณกระทรวงสาธารณสุข สถาบันวัคซีนแห่งชาติ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอีกหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐเอกชน และภาคประชาชน รวมถึงนักวิจัยทางการแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับประเทศและโลกที่ร่วมกันพัฒนาวิจัย ต่อยอดคิดค้นผลิตวัคซีน รวมถึงการพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ของศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนประสบความสำเร็จ สามารถผลิตและพร้อมฉีดให้กับอาสาสมัคร นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ที่จะนำมาใช้และสร้างคุณประโยชน์และชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยในระดับสากลอย่างแน่นอน” ศ.นพ.สุทธิพงศ์ กล่าว

ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการบริหารโครงการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การพัฒนาวัคซีน ChulaCov19 ได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน อาทิ สถาบันวัคซีนแห่งชาติ, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.), ทุนศตวรรษที่สอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเงินบริจาคจากสมาคมศิษย์เก่าแพทย์จุฬาฯ กองทุนบริจาควิจัยวัคซีน สภากาชาดไทย โดยวัคซีน ChulaCov19 เป็นการคิดค้นออกแบบและพัฒนาโดยคนไทยจากความร่วมมือสนับสนุน โดยแพทย์นักวิทยาศาสตร์ผู้คิดค้นเทคโนโลยีนี้ของโลกคือ Prof. Drew Weissman มหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย วัคซีน ChulaCov19 ผลิตโดยสร้างชิ้นส่วนขนาดจิ๋วจากสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัสโคโรนา (โดยไม่มีการใช้ตัวเชื้อแต่อย่างใด) ซึ่งเมื่อร่างกายได้รับชิ้นส่วนของสารพันธุกรรมขนาดจิ๋วนี้เข้าไป จะทำการสร้างเป็นโปรตีนที่เป็นส่วนปุ่มหนามของไวรัสขึ้น (spike protein) และกระตุ้นให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันไว้เตรียมต่อสู้กับไวรัสเมื่อไปสัมผัสเชื้อ เมื่อวัคซีนชนิด mRNA ทำหน้าที่ให้ร่างกายสร้างโปรตีนเรียบร้อยแล้ว ภายในไม่กี่วัน mRNA นี้จะถูกสลายไปโดยไม่มีการสะสมในร่างกายแต่อย่างใด

ที่ผ่านมาทางศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการทดลองในลิง และหนู ได้ประสบผลสำเร็จ พบว่า สามารถช่วยยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือดและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ในระดับสูง จึงนำมาสู่การผลิต และทดสอบทางคลินิกระยะที่ 1 ให้กับอาสาสมัครในวันจันทร์ที่ 14 มิถุนายน 2564 เป็นวันแรก โดยแบ่งการทดสอบได้ดังนี้


การทดสอบในระยะที่ 1 แบ่งออกเป็นสองกลุ่มอายุ จำนวน 72 คน กลุ่มแรก เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 18-55 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน กลุ่มที่สอง เป็นอาสาสมัครผู้ที่มีอายุ 65-75 ปี ทดสอบจำนวน 36 คน

ในจำนวน 2กลุ่มข้างต้น จะแบ่งเป็นกลุ่มย่อยที่ฉีดวัคซีน 10 ไมโครกรัม, 25 ไมโครกรัม และ 50 ไมโครกรัม เพื่อดูว่าวัคซีน ChulaCov19 มีประสิทธิภาพสูงสุดที่ปริมาณเท่าไร เพราะปัจจุบันโมเดอร์นาใช้วัคซีนปริมาณ 100 ไมโครกรัม ส่วนไฟเซอร์ใช้ 30 ไมโครกรัม ทางศูนย์ฯ ต้องศึกษาว่าคนไทยหรือเอเชียเหมาะกับการฉีด10 หรือ 25 หรือ 50 ไมโครกรัม จะได้รู้ขนาดที่ปลอดภัยและกระตุ้นภูมิได้สูง หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะที่ 2 สำหรับการทดสอบในระยะที่ 2 จำนวน 150-300 คน คาดว่าเริ่มต้นฉีดได้ประมาณเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นไป

ศ.นพ.เกียรติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การทดสอบวัคซีนนั้น คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของอาสาสมัคร ต้องใช้ระยะเวลาและทยอยฉีดตามลำดับ โดยใช้หลักการเหมือนกันทั่วประเทศ ถึงจะทราบข้อมูลจากผลการศึกษาว่าสามารถป้องกันการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตได้จริงหรือไม่ หากองค์การอนามัยโลก (WHO) หรือสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ (NIH) สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ได้ว่า “วัคซีนที่มีประสิทธิภาพต้องกระตุ้นภูมิเท่าไร” ก็จะช่วยลดขั้นตอนได้ สมมุติว่า เกณฑ์วัคซีนโควิด-19 ที่ดีต้องสร้างภูมิคุ้มกันมากกว่า 80 IU (International Unit) ถ้าหาก วัคซีน ChulaCov19 สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูงกว่าค่านี้แสดงว่ามีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ก็สามารถยกเว้นการทำทดสอบทางคลินิกระยะที่สามได้ วัคซีนนี้อาจได้รับอนุมัติให้ผลิตเพื่อใช้ในคนจำนวนมากได้ภายในก่อนกลางปีหน้า

สำหรับจุดเด่นของวัคซีน ChulaCov19

  1. จากการทดสอบความทนต่ออุณหภูมิของวัคซีน พบว่าวัคซีน ChulaCov19 สามารถอยู่ในอุณหภูมิตู้เย็น (2-8 องศาเซลเซียส) ได้นานถึง 3 เดือน และเก็บในอุณหภูมิห้อง (25 องศาเซลเซียส) ได้นาน 2 สัปดาห์ ซึ่งทำให้การจัดเก็บรักษาง่ายกว่าวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA ยี่ห้ออื่น เป็นอย่างมาก
  2. ผลการทดสอบในสัตว์ผ่านเกณฑ์ดีมาก จากการทดลองในหนูทดลองชนิดพิเศษที่ออกแบบให้สามารถเกิดโรคโควิด-19 ได้ พบว่า เมื่อหนูได้รับการฉีดวัคซีน ChulaCov19 ครบ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์ แล้วให้หนูทดลองได้รับเชื้อโควิด-19 เข้าทางจมูก สามารถป้องกันหนูทดลองไม่ให้ป่วยเป็นโรคและยับยั้งไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่กระแสเลือด รวมทั้งสามารถลดจำนวนเชื้อในจมูกและในปอดลงไปอย่างน้อย 10,000,000 เท่า เมื่อทดสอบความเป็นพิษก็พบว่าปลอดภัยดี ส่วนหนูที่ไม่ได้รับวัคซีนจะเกิดอาการป่วยโควิด-19 ภายใน 3-5 วัน และทุกตัวมีเชื้อสูงในกระแสเลือด ในจมูก และปอด เป็นจำนวนมาก
  3. วัคซีนชนิด mRNA สามารถผลิตได้เร็ว ไม่ต้องรอเพาะเลี้ยงเชื้ออย่างวัคซีนบางชนิด แต่วัคซีนชนิด mRNA เพียงรู้สายพันธุ์ของเชื้อก็ไปออกแบบวัคซีนได้ สังเคราะห์ในหลอดทดลอง ไม่เกิน 4 สัปดาห์มีวัคซีนมาทดสอบในหนูได้ การที่ผลิตได้รวดเร็วนี้ ทำให้ไม่ต้องใช้โรงงานขนาดใหญ่ นอกจากนี้ เมื่อเกิดเชื้อกลายพันธุ์ก็สามารถสังเคราะห์วัคซีนได้เร็วเช่นกัน

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยวัคซีน คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการเตรียมความพร้อมพัฒนาทดลองวัคซีนรุ่นที่2 กับสัตว์ทดลองควบคู่กันไปกับรุ่นแรกข้างต้น เพื่อรองรับเชื้อดื้อยาหรือเชื้อกลายพันธุ์ที่ทั่วโลกกำลังวิตกกังวล อาทิ สายพันธุ์อังกฤษ สายพันธุ์อินเดีย สายพันธุ์แอฟริกาใต้ สายพันธุ์บราซิล ฯลฯ ทั้งหมดนี้นับเป็นวัคซีนที่คิดค้น พัฒนาและผลิตโดยคนไทย จากความร่วมมือของทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี ถ้าทุกอย่างเป็นตามแผนคาดว่าจะสามารถผลิตวัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ที่ดื้อวัคซีนได้เพื่อทดสอบในอาสาสมัครภายในไตรมาส 4 ของปีนี้

ด้านอาสาสมัครของโครงการฯ กล่าวแสดงความรู้สึกว่า ได้รับทราบข่าวการรับสมัครอาสาฉีดวัคซีนผ่านช่องทางสื่อโซเชียล เลยตัดสินใจสมัครเข้าร่วมโครงการ และวันนี้เป็นวันแรกที่เข้ารับการทดสอบ ไม่รู้สึกตื่นเต้นแต่อย่างใด เนื่องจากได้รับคำแนะนำและการต้อนรับจากทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่อีกหลายท่านเป็นอย่างดี เลยรู้สึกมีความมั่นใจ เพราะอยากให้ประเทศไทยมีวัคซีนเป็นของตนเอง เชื่อมั่นในศักยภาพแพทย์จุฬาฯ ที่สามารถคิดค้นและพัฒนาวัคซีนให้มีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับคนไทยต่อไป ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนคนไทยเชื่อมั่นในศักยภาพของทีมแพทย์ไทย นับว่าเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่เรามีวัคซีน ChulaCov19 ที่คิดค้นและพัฒนาโดยคนไทย .-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

ข่าวแนะนำ

อัญเชิญเรือพระที่นั่งกลับพิพิธภัณฑ์

หลังสร้างความตราตรึงให้กับชาวไทยและคนทั้งโลก กับความงดงามของขบวนพยุหยาตราทางชลมารค กองทัพเรือ และกรมศิลปากร เริ่มอัญเชิญเรือพระที่นั่ง และเรือพระราชพิธี กลับเข้าสู่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี ซึ่งแต่ละขั้นตอนต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ เพราะเรือทุกลำถือเป็นสมบัติล้ำค่าของแผ่นดิน

ย้อนรอยเส้นทางชีวิต “บิ๊กโจ๊ก”

เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้วที่เส้นทางตำรวจของ “บิ๊กโจ๊ก” พล.ต.อ.สุรเชชษฐ์ หักพาล ต้องยุติลง หลังถูกให้ออกจากราชการไว้ก่อน กรณีพัวพันเว็บพนันออนไลน์ จากนี้ชะตาชีวิต “บิ๊กโจ๊ก” ขึ้นอยู่กับ ป.ป.ช. ว่าจะได้กลับมาสวมชุดตำรวจอีกหรือไม่

“ปานเทพ” เปิดหลักฐานสัญญาชัด 71 ล้านเป็นชื่อ “มาดามอ้อย”

“อ.ปานเทพ” เปิดหลักฐานหนังสือสัญญาบอกชัด 71 ล้านบาท เป็นชื่อ “มาดามอ้อย” เปิด 3 รายชื่อให้เร่งตรวจสอบ หวั่นโยกย้ายทรัพย์สิน