จุฬาฯ11ก.พ.-ศัลยแพทย์ร่วมถอดบทเรียนจากเหตุการณ์กราดยิง แนะวิธีเอาตัวรอด ด้วยการ “หนี ซ่อน สู้” เตือนนักแชทให้สนใจสิ่งรอบตัวและสัญญาณอันตรายเพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อ
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จัดเสวนา “Escape and Survive in Mass Shooting” รวบรวมวิทยากรแพทย์จากหลากหลายสาขามาให้ข้อมูลและวิธีการในการหลบหนีและเอาตัวรอดจากสถานการณ์การกราดยิง เพื่อให้ความรู้และถอดบทเรียนจากเหตุกราดยิง ที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งได้รับความสนใจจากบุคคลากร แพทย์ พยาบาล นิสิต และประชาชนทั่วไปมารับฟังอย่างเนืองแน่น
รศ.นพ.รัฐพลี ภาคอรรถ ภาควิชาศัลยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาตไทย กล่าวถึงการเอาตัวรอดจากการกราดยิง ว่า โดยทั่วไปเมื่อเจอสถานการณ์กราดยิง สิ่งแรกที่ควรทำคือการหนีเอาตัวรอด หนีออกมาให้ไกลที่สุดจากจุดเกิดเหตุ แต่ถ้าหนีไม่ได้ทางออกไปไม่ได้หรือจวนตัวจริงๆให้หาที่หลบซ่อนตัว โดยหาที่กำบังมิดชิด ปลอดภัยที่เห็นว่าหากโดนยิงก็จะไม่ทะลุกำแพงหรือโดนระเบิดก็น่าจะรอดได้ และสุดท้ายหากหนีก็ไม่พ้นหรือซ่อนตัวก็กำลังจะถูกหาเจอ ก็ให้เตรียมตัวสู้สุดชีวิต เพราะถ้าถึงจุดนี้ผู้ก่อเหตุเจอตัวเรา เราต้องตายแน่นอนเพราะผู้ก่อเหตุตั้งใจมาเพื่อฆ่า และเขาเตรียมตัวมาตายอยู่แล้ว การร้องขอชีวิตจึงไม่เป็นผล ซึ่งในการสู้กับคนร้าย ต้องสู้ด้วยอุปกรณ์ทุกอย่างที่มีสู้ด้วยแรงทั้งหมดที่มี สู้ด้วยคนทั้งหมดที่มีและสู้เพื่อเปิดโอกาสให้มีคนรอดชีวิต เพราะไม่สู้ก็ต้องตายแน่นอน ถ้าสู้สุดชีวิตอาจมีโอกาสรอดชีวิตได้ ดังนั้นเมื่อเผชิญเหตุจึงอยากให้จำไว้เสมอว่าให้หนีให้ไกลถ้าหนีไม่ทันให้หาที่หลบซ่อนและถ้าซ่อนไม่พ้นก็ให้สู้สุดชีวิต
ส่วนสัญญาณอันตรายที่บ่งชี้ก่อนเกิดเหตกราดยิง ต้องสังเกตว่ามีเสียงดังผิดปกติเสียงปืนเสียงระเบิดหรือเสียงกรีดร้อง สังเกตทิศทางหรือจำนวนของแหล่งที่มาของเสียงเพื่อรู้ทิศทางของเหตุและจำนวนของผู้ก่อเหตุ เพื่อหาทิศทางการหลบหนีที่ปลอดภัย รวมทั้งสังเกตควันไฟหรือแสงสว่างจากแสงเพลิงหรือระเบิดรวมทั้งความผิดปกติที่อาจเกิดจากการมีไฟดับหรือเสียงประกาศเตือนจากในห้างสรรพสินค้า รวมทั้งการมีฝูงชน วิ่งไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งหรือวิ่งแบบสับสนอลหม่าน ซึ่งอยากจะบอกกับประชาชนหรือผู้คนในยุคปัจจุบัน ในขณะที่เดินในที่ชุมชนหรือมีผู้คนหนาแน่น อย่ามัวแต่ก้มดูโทรศัพท์หรือใส่หูฟังทั้งสองหูตลอดเวลา อยากให้ดูโลกภายนอก และฟังเสียงจากรอบข้างบ้าง เผื่อมีสัญญาณอันตราย เพราะบางทีการสนใจสิ่งรอบตัวจะทำให้ชีวิตเรายาวขึ้น
ทั้งนี้ แม้เหตุกราดยิงในประเทศไทยเพิ่งเกิดขึ้นแต่ควรมีการปลูกฝังการเอาตัวรอดเบื้องต้นให้กับเด็กและเยาวชนตั้งแต่เป็นเด็ก เช่นการฝึกให้เด็กสังเกตป้ายทางหนีไฟหรือทางออกตามสถานที่ต่างๆ ให้รู้จักการหนีภัยและหลบหนีออกจากที่อันตราย รวมทั้งรู้จักการหนีแอบซ่อนและการฝึกให้เงียบไม่ส่งเสียงดัง ในขณะที่การเตรียมการของบุคลากรทางการแพทย์รวมทั้งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้มีการตื่นตัวในการร่วมระดมสมอง และถอดบทเรียนจากเหตุการณ์กราดยิงที่เกิดขึ้นในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางป้องกันในอนาคตเพื่อลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้น
ด้าน พอ.นพ.ณัฐ ไกรโรจนานันท์ ศัลยแพทย์ กองอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า Mass Shooting หรือกราดยิง ในประเทศไทย เกิดขึ้นแล้ว 2 ครั้งแล้วในปี2563 นี้ ครั้งแรกในเหตุการณ์ชิงร้านทองที่ห้างโรบินสัน จังหวัดลพบุรี เมื่อวันที่ 9 มกราคม และครั้งล่าสุด ที่จังหวัดนครราชสีมา โดยกรณีเหตุที่เข้าข่าย เป็นเหตุกราดยิง ประกอบด้วย 1.เกิดในที่ชุมชน 2.มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 4 คน ไม่รวมผู้ก่อเหตุ ซึ่งจากงานวิจัยพบว่า จุดจบของผู้ก่อเหตุในทุกกรณีมีเพียงทางเดียวคือตาย ตายจาก 2 กรณีคือ จนมุมเจ้าหน้าที่แล้วฆ่าตัวเองตาย กับถูกเจ้าหน้าที่วิสามัญ 3.ผู้ก่อเหตุเลือกเหยื่อโดยไม่มีการวางแผนล่วงหน้า และสุดท้ายผู้ก่อเหตุยังมีเป้าหมายอื่นนอกเหนือจากการเอาชึวิตคน เช่น ปล้นทรัพย์ ชิงทรัพย์ด้วย
ทั้งนี้ ในการเสวนาครั้งนี้ได้มีการสาธิตการปฐมพยาบาลเบื้องต้นในการห้ามเลือดให้กับตัวเองรวมทั้งผู้บาดเจ็บจากเหตุกราดยิงในกรณีที่ได้บาดเจ็บในจุดที่ซับซ้อน ซึ่งการปฐมยาบาลเบื้องต้นที่ถูกต้องจะช่วยให้โอกาสในการรอดชีวิตมีมากขึ้น.-สำนักข่าวไทย