กรุงเทพฯ 17 ก.พ. – ธปท. ปลื้มประชาชนนิยมใช้ e-Money คึกคัก โตถึงร้อยละ 20 มูลค่าใช้จ่าย 88,000 ล้านบาท คาดกระแสนิยมต่อเนื่องตามสังคมสมาร์ทโฟน
นางนิศารัตน์ ไตรรัตน์วรกุล ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ในปี 2559 การใช้บริการบัตรเติมเงิน บัตรเงินสด บัตรดิจิตอล กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Money ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาก โดยมูลค่าการใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 88,814.57 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 โดยมีปริมาณ 900 ล้านรายการ เฉลี่ยน 98 บาทต่อรายการ ขณะที่มีผู้ใช้บริการe-Money ทั้งหมด 38.3 ล้านบัตร ผ่านระบบธนาคาร 2.1ล้านบัตร และที่ไม่ใช่ธนาคาร 36.2 ล้านบัตร และคาดว่าปีนี้มูลค่าการใช้จ่ายe-Money จะขยายตัวไม่ต่ำกว่ารัอยละ 20 เนื่องจากประชาชนนิยมใช้บริการe-Money มากขึ้นเพราะสะดวก ประกอบกับผู้ให้บริการขยายบริการผ่านแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนมากขึ้น ซึ่งตรงใจผู้บริโภคที่นิยมใช้สมาร์ทโฟน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีการโฆษณาจูงใจให้ประชาชนและร้านค้าสมัครใช้บริการe-Money ซึ่งบางครั้งผู้ให้บริการอาจมีการหาเครือข่ายสมาชิกโดยให้ผลตอบแทน ดังนั้นธปท. ขอให้ประชาชนและร้านค้าตรวจสอบและทำธุรกรรมe-Money กับบริษัทที่ได้รับอนุญาตจากทางธปท.เท่านั้นโดยขณะนี้มีผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตจำนวน 29 ราย และหลีกเลี่ยงผู้ให้บริการที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งสามารถตรวจสอบผ่านทางเว็บไซด์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ www.bot.or.th หรือสายด่วน 1213 รวมทั้งตรวจดูเงื่อนไขการให้บริการที่ชัดเจน กรณีมีปัญหาจะมีแนวทางแก้ไขหรือช่องทางร้องเรียนอย่างไรบ้าง รวมทั้งช่องทางการได้รับเงินคืนต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย
นางนิศารัตน์ กล่าวว่า ธปท. มีมาตรการกำกับดูแลe-Moneyที่เข้มงวดกว่าการบริการทางการเงินประเภทอื่น เพราะเกี่ยวข้องกับเงินของประชาชน ซึ่งผู้ใช้บริการe-Money ต้องนำเงินไปฝากไว้กับผู้ให้บริการe-Moneyก่อน จึงขอให้ประชาชนเลือกบริการจากบริษัทที่มีความมั่นคง และ น่าเชื่อถือ ซึ่งปัจจุบันธปท. ใช้พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการชำระเงิน ทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 และประกาศกระทรวงการคลังเรื่องกิจการที่ต้องขออนุญาตตามข้อ 5 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ควบคุมดูแล ซึ่งเมื่อพระราชบัญญัติระบบชำระเงิน ฉบับใหม่ออกมาบังคับใช้ จะนำมากำกับดูแลผู้ให้บริการ e-Money ต่อไป .- สำนักข่าวไทย