กรุงเทพฯ 30 ต.ค. – ธปท.ชี้กรอบเงินเฟ้อปี 2568 ที่ 1-3% ยังเหมาะสม มองคลังให้โจทย์ต้องมีมาตรการหนุนเงินเฟ้อใกล้เคียงกับกรอบที่ 2% ยังอยู่ในกรอบ ชี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนชะลอลงนับจากโควิด ยันเลื่อนเลือกตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ไม่กระทบการทำงาน
นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในงาน Monetary Policy Forum ว่ากรอบเงินเฟ้อปี 2568 ที่ 1-3% ยังเป็นกรอบที่เหมาะสม เชื่อว่าทุกฝ่ายมีเป้าหมายร่วมกันในการต้องการเห็นเศรษฐกิจที่มีศักยภาพและการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งการดำเนินงานเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีหน้าที่ ดูแลภาวะเศรษฐกิจให้เอื้ออำนวยให้เหมาะสมซึ่งใช้เครื่องมือที่ผสมผสาน ทั้งการดูแลอัตราดอกเบี้ยการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนเกินไป รวมไปถึงมาตรการดูแลการแก้หนี้ ทั้งนี้ หากเศรษฐกิจจะฟื้นขึ้น เงินเฟ้อจะสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย ก็เป็นสิ่งที่ควรจะเป็น ไม่ได้หน่วงจนเงินเฟ้อต่ำถือเป็นสิ่งที่ดี ระบุค่าเงินบาทไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป็นส่วนหนึ่งที่จะนำไปสู่เป้าหมายคือการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ซึ่ง ธปท.ดูแลค่าเงินอยู่แล้ว เพื่อดูแลความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้น สำหรับการประชุม กนง.ในครั้งต่อไป จะต้องดูพัฒนาการทางการเงินเพื่อให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจต่อไป
ส่วนกรณี นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้โจทย์ ธปท. มีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนหนุนเงินเฟ้อให้ใกล้เคียงกับกรอบเป้าหมายที่ระดับ 2% นั้น มองว่าก็ยังเป็นตัวเลขในกรอบเป้าหมาย พร้อมระบุการวางกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตไปอย่างมีศักยภาพ ซึ่งมองว่ากรอบดังกล่าวเอื้ออำนวยต่อการให้เศรษฐกิจขยายตัว
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความเสี่ยงด้านเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาวปรับลดลงภายใต้บริบทที่สินเชื่อมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ซึ่งเป็นไปตามที่ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการสินเชื่อที่ลดลงและการชำระคืนของลูกหนี้หลังปรับเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดตามมาตรการของทางการ สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้นโดยเฉพาะในบางกลุ่ม เช่น รายย่อยกลุ่มเปราะบางและ SCB ที่รายได้ฟื้นตัวช้า สอดคล้องกับความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ที่เพิ่มขึ้นและสินเชื่อในธุรกิจลดลงจากการเผชิญปัจจัยเชิงโครงสร้าง เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวกับยานยนต์และธุรกิจที่ได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากการแข่งขันจากจีน อย่างไรก็ตาม มองว่าการลดดอกเบี้ยไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้สินเชื่อลดลง
ส่วนการเลือกตั้งประธานคณะกรรมการ ธปท. ที่มีการเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ยืนยันว่าไม่กระทบต่อการทำงาน เรื่องจากมีคณะทำงานรับผิดชอบแต่ละด้านอยู่แล้ว. -516-สำนักข่าวไทย