นนทบุรี 1 พ.ย. – “ธนวรรธน์” เชื่อ ธปท.ยังทำงานอิสระ แม้มีความเห็นต่างกับคลังหลายครั้ง แต่สุดท้ายยังเดินหน้าทำงานร่วมกัน ชี้ข้อห่วงใยจาก 4 อดีตผู้ว่าการแบงก์ชาติ-นักวิชาการ คำนึงถึงภาพลักษณ์และการยอมรับจากนานาประเทศ
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงการประชุมเพื่อคัดเลือกประธานและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คน ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในวันที่ 4 พ.ย.นี้ ซึ่งมีกลุ่มนักวิชาการ และ 4 อดีตผู้ว่าการ ธปท. แสดงความห่วงใยว่าอาจถูกแทรกแซงจากการเมืองว่า การแสดงออกเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อต้องการให้ระมัดระวัง เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์มองว่า ภาพลักษณ์และกระบวนการทำงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้นานาชาติยอมรับ ดังนั้นจึงเป็นการส่งสัญญาณแสดงว่ารัฐบาลควรต้องพึงระวังในเรื่องดังกล่าว ซึ่งการปรับเปลี่ยนที่สำคัญของ ธปท. คือ ประธานบอร์ดและผู้ว่าการ ธปท. เนื่องจากโดยหลักสากลธนาคารกลางต่าง ๆ ทั่วโลกทำหน้าที่ดูแลเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ต้องเป็นอิสระจากการทำงานของรัฐบาล เมื่อรัฐบาลมีการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วและแรงเกินไปธนาคารกลางแต่ละประเทศ จะใช้กลไกด้านอัตราดอกเบี้ยและการเงินในการดูแลไม่ให้เศรษฐกิจเติบโตร้อนแรงเกินไปเพื่อไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ
สำหรับสถานการณ์ในไทยขณะนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง และ ธปท.อาจมีความเห็นไม่สอดคล้องกันหลายครั้ง เรื่อง อัตราดอกเบี้ย จึงทำให้เกิดความห่วงใยว่าถ้า ธปท.ลดดอกเบี้ยตามแรงกดดันจากภาครัฐก็จะส่งผลต่อการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ขนะที่ ธปท.รับฟังเรื่องอื่นๆ อาทิ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ดังนั้น จึงมองว่า ธปท.รับฟังความเห็นจากภาครัฐ และมีอิสระในการตัดสินใจ
สำหรับกระบวนการสรรหา ต้องพิจารณาว่าเป็นอิสระจากการเมือง หรือตำแหน่งทางการเมืองที่อยู่ในภาครัฐบาล หากไม่มีเงื่อนไขที่ผิดคุณสมบัติคิดว่ากระบวนการสรรหาก็น่าจะสอดคล้องและเหมาะสม ซึ่งหากไม่ตรงตามเงื่อนไขก็อาจนำไปสู่การโมฆะได้ นอกจากนี้ บุคคลที่เข้ามาดำรงตำแหน่งก็ต้องสวมหมวก ในการทำหน้าที่ในหน่วยงานนั้นๆ ดังนั้นมองว่ายังมีกลไกที่สังคมสามารถตรวจสอบได้ เชื่อว่ากระบวนการสรรหา จะสามารถเลือกคนที่ทำงานกับภาครัฐและมีอิสระจากการทำงานจากภาครัฐและกำหนดสิ่งที่ดีได้
ที่ผ่านมากระทรวงการคลังอยากให้ปรับกรอบเงินเฟ้อขึ้นแต่เมื่อมีการหารือระหว่าง รมว.คลัง และผู้ว่าการ ธปท. ก็ยังเห็นตรงกันให้คงกรอบอัตราเงินเฟ้อปี 2568 ที่ 1-3% ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่าไม่ว่าจะมีการแสดงออกอย่างไร ก็ยังเห็นตรงกันในการคงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเดิมไว้
“ส่วนกรณีที่ รมว.คลัง อยากเห็นเงินเฟ้อเข้าใกล้เป้าหมายที่ 2% ทำให้ประเมินว่าถ้าปีหน้าอัตราเงินเฟ้อยังต่ำ ธปท.อาจพิจารณาลดดอกเบี้ยได้” รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว.-516-สำนักข่าวไทย