กทม. 9 พ.ค.-สปสช.จัดทำคู่มือ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น รับมือโรคระบาด ดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้กลไก กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นควบคุมแพร่ระบาด “โควิด-19”
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข ในการดูแลและป้องกันตนเองอย่างเคร่งครัด ได้แก่ การสวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา งดการจับกลุ่มพูดคุย รับประทานอาหารหรือทำกิจกรรมร่วมกัน ล้างมือทุกครั้งหลังสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่อาจมีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได เป็นต้น และห้ามออกจากห้องพักโดยไม่จำเป็น ตลอดระยะเวลาการกักกัน เป็นมาตรการสำคัญในการช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดได้ จำเป็นต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชน มาตรการเหล่านี้ จำเป็นต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเพื่อเร่งลดการแพร่ระบาด
กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น (กปท.) โดยงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศ 7,740 แห่งที่ได้ร่วมจัดตั้ง มีเป้าหมายสำคัญนอกจากมุ่งส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสุขภาพในพื้นที่แล้ว ยังเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นที่รวมถึงการเกิดโรคระบาด จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในปี 2563 มี อปท. จำนวน 5,213 แห่ง ดำเนินการโครงการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำนวน 20,108 โครงการ งบประมาณรวมกว่า 994.33 ล้านบาท ที่มีส่วนช่วยลดการแพร่ระบาดลงได้ และในปี 2564 นี้ ได้มี อปท. 4,027 แห่ง ร่วมดำเนินโครงการป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 แล้ว จำนวน 14,401 โครงการ เป็นงบประมาณกว่า 458.83 ล้านบาท
นพ.จเด็จ กล่าวว่า เพื่อให้ อปท. นำกลไก กปท. มาร่วมแก้ปัญหาสถานการณ์โรคระบาดในครั้งนี้ โดยเฉพาะการกระตุ้นเพื่อเร่งสร้างความตระหนักรู้และปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขสู่ชุมชนในพื้นที่ รวมถึงเพิ่มการเข้าถึงวัสดุและอุปกรณ์ที่จำเป็นในการป้องกันโรค สปสช. ได้จัดทำคู่มือ “แนวทางการบริหารจัดการกองทุนท้องถิ่น ในภาวะวิกฤตเกิดโรคระบาดและภัยพิบัติในพื้นที่” นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับ อปท. ดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินงานและบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ พ.ศ. 2561 ข้อ 10 (5) ที่ระบุว่า “เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมกรณีเกิดโรคระบาดหรือภัยพิบัติในพื้นที่ ในการป้องกันและแก้ปัญหาสาธารณสุขได้ตามความจำเป็น เหมาะสม และทันต่อสถานการณ์ได้”
“โควิด-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วขณะนี้ การแก้ไขปัญหาต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนและทุกภาคส่วน โดยใช้ทุกๆ กลไกที่มีอยู่ อย่างกลไก กปท. ในการนำมาตรการต่างๆ ลงสู่ชุมชน เพื่อเร่งสร้างความตระหนักรู้และเกิดการปฏิบัติในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดและจริงจัง” เลขาธิการ สปสช. กล่าว
ดาวน์โหลดคู่มือ “แนวทางการบริหารจัดการกองทุนท้องถิ่น ในภาวะวิกฤตเกิดโรคระบาดและภัยพิบัติในพื้นที่” ได้ที่ : https://stream.nhso.go.th/assets/portals/1/ebookcategory/80_plague/.-สำนักข่าวไทย