รัฐสภา 19พ.ย.-“สภาองค์กรของผู้บริโภค” ยื่น 3 ร่างกฎหมาย ครอบคลุมการซื้อขายออนไลน์ มอง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ล้าหลังไม่ทันยุค
สภาองค์กรของผู้บริโภค นำโดย น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาของผู้บริโภค พร้อมตัวแทนเครือข่ายองค์กรฯ เข้ายื่นร่างกฎหมาย 3 ฉบับ พร้อมรายชื่อประชาชนทั้งหมด 71,454 ประกอบด้วย ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ…. ร่างพระราชบัญญัติอาหาร (ฉบับที่….) พ.ศ. … และ ร่างพระราชบัญญัติความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องของสินค้า พ.ศ….. หรือกฎหมายเลมอน ลอว์ (Lemon Law) รายชื่อ แก่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ โฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้รับแทน
น.ส.สารี กล่าวว่า สืบเนื่องจากประเทศไทยมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค 2522 ที่เขียนไว้เมื่อ 45 ปีที่แล้ว ถึงแม้จะมีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายมา 3 ครั้ง แต่สิทธิของผู้บริโภคไทยก็ยังถูกจำกัดไว้เพียง 5 ข้อเท่าเดิม ในขณะที่สิทธิผู้บริโภคสากลมี 8 ข้อ แต่สำหรับยุคดิจิทัลนั้น สภาองค์กรของผู้บริโภค เห็นว่าสิทธิเพียง 8 ข้อ และองค์การสหประชาชาติได้รับรองให้มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และการคุ้มครองในการซื้อขายออนไลน์ ต้องไม่น้อยกว่าการซื้อขายแบบเดิม ด้วยเหตุนี้จึงเสนอปรับเพิ่มสิทธิผู้บริโภคในกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคฉบับใหม่ เป็น 10 ข้อ เพื่อให้สิทธิผู้บริโภคไทยเท่าทันยุคสมัย และกฎหมายสามารถบังคับใช้ได้จริง ซึ่งการเสนอแก้ไขร่าง พ.ร.บ.
คุ้มครองผู้บริโภค ฉบับสภาผู้บริโภค เน้นการปรับปรุงสิทธิผู้บริโภคให้ครอบคลุมรูปแบบการซื้อขายออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน
นอกจากนี้ยังปรับปรุงกลไกโครงสร้างคณะกรรมการให้มีความโปร่งใส และการตัดสินข้อพิพาทให้รวดเร็ว มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อให้การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เป็นไปอย่างเป็นธรรมและตรงไปตรงมา ต้องยอมรับว่าวิถีการบริโภคอาหารในปัจจุบันที่เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งรูปแบบอาหาร การโฆษณา ที่มาตอบสนองต่อผู้บริโภค ยุคปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งกฎหมายที่มีไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเติบโตของสังคม ทำให้ผู้บริโภคเสี่ยง ต่อการเผชิญอันตรายจากอาหารไม่ปลอดภัย และการโฆษณาเกินจริง ทั้งนี้ตัวแทนสภาองค์กรของผู้บริโภคยังมั่นใจกฎหมายจะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริงเป็นกฎหมายศักดิ์สิทธิ์ไม่ใช่เสือกระดาษที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์
ด้านนายคัมภีร์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวเพราะเราถือว่าเป็นผู้บริโภค ต้องยอมรับว่ากฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค ตอนนี้กฎหมายที่ล้าสมัยไม่ทันต่อการพัฒนาการการขายสินค้าและบริการ ดังนั้นการมีกฎหมายที่ทันสมัย รวดเร็วก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค มิฉะนั้นจะตกเป็นเหยื่อของผู้ผลิตและผู้ขายที่เอาเปรียบ หากกฎหมายในการแก้ไขอย่างรวดเร็วก็จะสามารถช่วยเหลือประชาชนได้เร็ว ตนจะนำเรื่องดังกล่าวไปนำเชิญต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรต่อไป.-319.-สำนักข่าวไทย