21 เมษายน 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริง / เรียบเรียง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, กลาง ณัฐนที
สังคมออนไลน์ ตั้งคำถาม “ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไม่มีอาการ จะไม่เกิดภูมิคุ้มกัน จริงหรือ ?” ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ยืนยันว่า “ไม่เป็นความจริง”
บทสรุป : ไม่เป็นความจริง
• ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไม่มีอาการ จะไม่เกิดภูมิคุ้มกัน
ข้อสงสัยบนสังคมออนไลน์
จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน วัคซีนถือเป็นตัวช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคโควิด – 19 ได้อย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ แต่การฉีดวัคซีนอาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ เช่น ปวดบวมแดงร้อน เป็นไข้ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยร่างกาย ถือเป็นปฏิกิริยาตามปกติที่ร่างกายต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม อย่างไรก็ตามบนสังคมออนไลน์ มีผู้เกิดความสงสัย และตั้งคำถามว่า หากฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วร่างกายไม่มีอาการเจ็บปวดหรือปฏิกิริยาใดเลย จะไม่เกิดภูมิคุ้มกัน หรือไม่?
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบกับ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า “ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไม่มีอาการ จะไม่เกิดภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด”
ฉีดวัคซีนแล้วไม่มีอาการ ไม่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน
รศ.นพ.ธีระ อธิบายว่า วัคซีนโควิด – 19 เป็นสารเคมีที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ และภูมิคุ้มกันในทางเลือดหรือแอนตี้บอดี้ จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกา พบว่า เมื่อฉีดวัคซีนที่เป็น mRNA วัคซีนอย่าง Pfizer และ Moderna คนส่วนใหญ่จะมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดประมาณ 66% – 83% แต่ก็มีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีอาการอะไรเลย ซึ่งอาการที่พบแบ่งเป็นอาการบวม แดง ประมาณ 5% และอาการอื่น ๆ เช่น ไข้ หนาวสั่น ปวดเมื่อยร่างกายประมาณ 50% หมายความว่าครึ่งหนึ่งมีอาการ อีกครึ่งหนึ่งอาจจะไม่มีอาการก็ได้ ดังนั้นเมื่อฉีดวัคซีนแล้วไม่มีอาการก็ไม่น่าแปลกใจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้
ผลการศึกษายังพบอีกว่า กลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการ มีตัวบอกระดับแอนตี้บอดี้หรือภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดค่อนข้างสูงกว่าคนที่ไม่มีอาการเล็กน้อย แต่ไม่ได้มีนัยยะสำคัญอะไร เมื่อสังเกตในระยะยาวก็พบว่า จำนวนเซลล์ที่สร้างภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดหรือแอนตี้บอดี้ ในกลุ่มคนทั้งสองมีปริมาณที่ไม่แตกต่างกัน ดังนั้น การฉีดวัคซีนแล้วไม่มีอาการ ก็ไม่น่าจะมีผลต่อภูมิคุ้มกันแต่อย่างใด
ฉีดวัคซีนเข็มที่สองอาจมีอาการมากกว่าเข็มแรก
รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัวที่ทำให้ภูมิคุ้มกันไม่ค่อยดี เมื่อฉีดวัคซีนแล้วอาจจะไม่มีอาการข้างเคียง เพราะร่างกายตอบสนองต่อวัคซีนน้อยกว่าคนทั่วไป นอกจากนี้ยังพบว่า การฉีดวัคซีนเข็มที่สองมีโอกาสเกิดปฏิกิริยามากกว่าเข็มแรก เพราะเข็มแรกเปรียบเสมือนการทำให้ร่างกายรู้จักคุ้นเคยกับตัวสารเคมีชนิดนี้ก่อน เมื่อฉีดเข็มที่สองร่างกายคุ้นเคยกับสารเคมีนี้แล้วจึงมีปฏิกิริยาตอบสนองได้มากกว่า ดังนั้น แม้ว่าฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วไม่มีอาการ แต่เมื่อฉีดวัคซีนเข็มสองก็อาจจะมีอาการได้
อัตราการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ของวัคซีนโควิด – 1 9
รศ.นพ.ธีระ แนะนำว่า ปัจจุบันวัคซีนโควิด – 19 มีหลายชนิด ควรศึกษาข้อมูลวัคซีนแต่ละชนิดอย่างละเอียดรอบคอบ เพื่อนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจก่อนเลือกฉีดวัคซีน เช่น ศึกษาอัตราการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ของวัคซีนชนิดต่าง ๆ ดังนี้
1. วัคซีน Pfizer เป็น mRNA วัคซีน ประมาณ 4 – 5 ครั้ง ต่อ 1 ล้านครั้งที่ฉีด
2. วัคซีน Moderna เป็น mRNA วัคซีน ประมาณ 2 ครั้ง ต่อ 1 ล้านครั้งที่ฉีด
3. วัคซีน Astrazeneca ประมาณ 10 ครั้ง ต่อ 1 ล้านครั้งที่ฉีด
วัคซีนไข้หวัดใหญ่ เป็นวัคซีนที่มีการฉีดเป็นประจำทุกปี มีอัตราการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ประมาณ 13 ครั้ง ต่อ 1 ล้าน เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน พบว่า วัคซีน Pfizer Moderna และ Astrazeneca ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เพราะมีอัตราการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) ที่น้อยกว่า หรือเทียบเท่ากับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจเลือกฉีดวัคซีนโควิด – 19 ได้
เตรียมตัวอย่างไรก่อนฉีดวัคซีนโควิด – 19
รศ.นพ.ธีระ แนะนำอีกว่า เมื่อถึงวันที่จะเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ควรตรวจสอบว่าต้องฉีดวัคซีนที่ไหน อย่างไร เวลาใด และประเมินร่างกายในวันนั้นว่าแข็งแรงดีหรือไม่ หากรู้สึกไม่สบาย ครั่นเนื้อครั่นตัว เป็นไข้ ไอ เจ็บคอ หรือมีอาการอื่น ๆ ไม่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเด็ดขาด เนื่องจากการฉีดวัคซีนจำเป็นต้องทำในช่วงที่สุขภาพร่างกายแข็งแรง มิฉะนั้นประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันอาจไม่ดีเท่าที่ควร
หากมีอาการไม่สบายแต่ยังเข้ารับการฉีดวัคซีน หรือไม่สบายแล้วกินยาลดไข้ก่อนมาฉีดวัคซีน เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์ขึ้น แพทย์จะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเป็นอาการป่วยไข้ธรรมดา หรือเป็นอาการข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน นอกจากนี้ยังไม่ควรฉีดวัคซีนชนิดอื่น ๆ ในเวลาใกล้เคียงกับการฉีดวัคซีนโควิด – 19 ควรเว้นระยะห่างประมาณ 1 เดือน หรือ 4 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าวัคซีนที่รับไปไม่มีปัญหาจริง ๆ
ฉีดวัควัคซีนโควิด – 19 การ์ดห้ามตก
รศ.นพ.ธีระ ย้ำว่า ผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด – 19 แล้ว ก็ยังมีโอกาสที่จะติดเชื้อและแพร่เชื้อให้กับผู้อื่นได้ เพราะวัคซีนช่วยป้องกันการเจ็บปวด อาการป่วย และลดอัตราการเสียชีวิตเท่านั้น แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าจะเข้ารับการฉีดวัควัคซีนโควิด – 19 แล้ว ทุกคนก็ยังต้องปฎิบัติตามมาตรฐานการควบคุมป้องกันโรค จนกว่าจะมีการฉีดวัคซีนอย่างถึง และเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นในประเทศไทย
บทสรุป : ไม่เป็นความจริง
รศ.นพ.ธีระ ยืนยันว่า ยังไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่า ฉีดวัคซีนโควิด-19 แล้วไม่มีอาการ จะไม่เกิดภูมิคุ้มกัน พร้อมแนะนำว่า ต้องศึกษาวัคซีนให้ดีก่อนตัดสินใจฉีด วันที่จะไปฉีดต้องประเมินสุขภาพตนเองว่าแข็งแรงดีหรือไม่ หลังฉีดวัคซีนแล้วการ์ดต้องไม่ตก ให้ปฎิบัติตัวตามมาตรฐานการควบคุมป้องกันโรคเช่นเดิม
🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” 🎯
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter