กรุงเทพฯ 4 เม.ย.-วสท. เข้าตรวจสอบอาคารถล่มในหมู่บ้านกฤษดานคร 31 เขตทวีวัฒนา เร่งประสานขอแปลนบ้าน ถอดบทเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ระบุมีหลายสาเหตุที่นำไปสู่การพังถล่มของอาคาร
รองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ ไชยชนะ อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมน์ หรือ วสท. เปิดเผยว่า การลงพื้นทื่วันนี้ อาจจะยังตรวจสอบอะไรมากไม่ได้ เนื่องจากสภาพอาคารพังทลายลงมาหมดแล้ว จึงต้องไปหาข้อมูล แบบแปลนการก่อสร้างอาคารว่ามีจุดใดที่เป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มลงมา เบื้องต้นประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขอแปลนบ้าน เพื่อที่นำไปถอดบทเรียนไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกในอนาคต ทั้งนี้ยังไม่สามารถระบุว่ามีการต่อเติมอาคาร ตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตหรือไม่ ต้องขอดูแปลนบ้าน
อาคารแห่งนี้มีการก่อสร้างในช่วงปี 2554-2555 ซึ่งในช่วงนี้มีเทคโนยีการก่อสร้าง การใช้วัสดุที่ดี ทนต่อไฟอยู่แล้ว จึงต้องดูสภาพแวดล้อม โดยขนาดของพื้นที่เองก็มีส่วนเกี่ยวข้อง หากพื้นที่แคบจะทำให้อาคาร-อม-ความร้อน มากกว่าอาคารที่อยู่ในพื้นที่กว้าง พื้นที่โล่งกว้างจะทำให้ความร้อนกระจายตัวได้มากกว่า
ขณะเดียวกันวัสดุ สิ่งของที่อยู่ภายในบ้าน เช่น กระดาษ พลาสติกต่างๆ รวมทั้งวัตถุไวไฟ จะเป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้อุณหภูมิพุ่งสูงได้ถึง 900-1,000 องศาฯ จากปกติที่วัสดุก่อสร้างจะทนความร้อนได้ถึง 300-600 องศาฯ ซึ่งตรงส่วนนี้ทำให้โครงสร้างอาคารเกิดรอยร้าว มีการแยกตัวออกจากกัน ความร้อนจึงเข้าไปในช่องว่าง ทำให้เหล็กเปลี่ยนรูปร่างหรือเปลี่ยนสภาพ ยื้อกันระหว่างจุดที่แข็งแรงของตัวบ้านกับจุดที่อ่อนแอ เป็นสาเหตุที่ทำให้อาคารถล่มลงมา โดยยืนยันว่า อาคารที่มีอายุประมาณ 10 ปีนั้น ถือว่ายังไม่เสื่อมสภาพ หากก่อสร้างอย่างถูกต้อง จะอยู่ได้ 30-50 ปี
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาคารหลังนี้คานมีขนาดใหญ่กว่าเสา รองศาสตราจารย์สิริวัฒน์ บอกว่า เป็นเรื่องปกติ เนื่องจากคานจะต้องรับน้ำหนักมากกว่าเสา สำหรับประเด็นการฉีดน้ำดับไฟ ตรงส่วนนี้ยืนยันว่าไม่ส่งผลให้อาคารถล่มลงมา เพราะปูนไม่ดูดซับน้ำ ส่วนการเปลี่ยนแปลงประเภทการใช้ประโยชน์ของอาคาร จากที่อยู่อาศัยเป็นที่เก็บของ หากไม่มีการแจ้งเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ ถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง .-สำนักข่าวไทย