กระทรวงการคลัง 31 มี.ค.—ที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียนกำหนดแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจด้านต่าง ๆ รองรับสถานการณ์โควิดคลี่คลาย ประเมินเศรษฐกิจอาเซียนปี 2564 เติบโตร้อยละ 5.2
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง แถลงว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ Meeting: AFMM) ครั้งที่ 25 และการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางอาเซียน (ASEAN Finance Ministers’ and Central Bank Governors’ Meeting: AFMGM) ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเงินและเศรษฐกิจและผู้ว่าการธนาคารกลาง บรูไนดารุสซาลาม เป็นประธานร่วม
สาระสำคัญการประชุม เลขาธิการอาเซียนได้คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนในปี 2564 ที่ร้อยละ 5.2 ซึ่งฟื้นตัวจากปี 2563 ที่หดตัวร้อยละ 4.4 อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การเพิ่มประสิทธิภาพของห่วงโซ่อุปทาน โดยการเชื่อมโยงเครือข่ายการคมนาคมขนส่ง การอำนวยความสะดวกด้านศุลกากร โดยเฉพาะด้านดิจิทัล และการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เพื่อเป็นแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้อย่างยั่งยืนและทั่วถึงในระยะยาว
ที่ประชุม AFMGM ยังได้รับฟังข้อเสนอแนะเชิงนโยบายจากผู้แทนภาคเอกชน ได้แก่ สภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียน สภาที่ปรึกษาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน และสภาที่ปรึกษาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน ในประเด็นความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อส่งเสริมกลไกการระดมทุนสำหรับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อความยั่งยืนของอาเซียน การส่งเสริมเทคโนโลยีทางการเงินสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล (Digital Transformation) การส่งเสริมพลังงานที่ยั่งยืน (Sustainable Energy) เพื่อสร้างเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) และความร่วมมือด้านภาษีอากรของประเทศสมาชิกอาเซียน
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของประเทศไทยในการดำเนินมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) ของรัฐบาล เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจ โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านมาตรการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) และมาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ที่ให้ผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนในภายหลัง รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับตลาดทุน เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศและช่วยให้ประชาชนเข้าถึงตลาดทุนได้มากขึ้น อีกทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของฐานข้อมูลดิจิทัลที่ถูกต้องจะช่วยให้การเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ที่ประชุม AFMM ครั้งที่ 25 และ AFMGM ครั้งที่ 7 ได้เห็นชอบประเด็นด้านการเงินที่ประธานอาเซียนต้องการผลักดันในปี 2564 ประกอบด้วย การลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดเสรีการค้าบริการด้านการเงิน ฉบับที่ 9 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน การจัดสัมมนาให้ความรู้ทางการเงินของอาเซียน ในปี 2564 และการริเริ่มการพัฒนามาตรฐานและเกณฑ์การจัดหมวดหมู่ด้านการเงินที่ยั่งยืนของอาเซียน (ASEAN Taxonomy on Sustainable Finance) ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนต่างเห็นพ้องที่จะร่วมกันผลักดันให้บรรลุประเด็นดังกล่าวภายในปีนี้
สำหรับการประชุม AFMM และ AFMGM ครั้งต่อไปในปี 2565 จะมีราชอาณาจักรกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ โดยคาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม – ช่วงต้นเดือนเมษายน 2565-สำนักข่าวไทย