คาซาน, 25 ต.ค. – 4 ประเทศที่เป็นสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน รวมถึงไทย สมัครเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนของกลุ่มบริกส์ แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกเต็มตัว โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและกระจายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนของภูมิรัฐศาสตร์โลก
มาเลเซีย, อินโดนีเซีย, เวียดนามและประเทศไทย สี่ประเทศสมาชิกอาเซียน กลายเป็นประเทศหุ้นส่วนของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ บริกส์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่จะมาถ่วงดุลกับชาติตะวันตก ในการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์วันสุดท้าย ที่เมืองคาซานของรัสเซีย มี 13 ประเทศถูกเพิ่มเป็นพันธมิตรในฐานะประเทศหุ้นส่วน ซึ่งอีก 9 ประเทศที่เหลือ ได้แก่ แอลจีเรีย เบลารุส โบลิเวีย คิวบา คาซัคสถาน ไนจีเรีย ตุรกี ยูกันดา และอุซเบกิสถาน
อย่างไรก็ตาม ทั้ง 13 ประเทศ ยังไม่ได้เป็นสมาชิกสมบูรณ์ของกลุ่มบริกส์ ที่ตั้งขึ้นในปี 2549 ซึ่งประเทศสมาชิกเริ่มต้นประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน ต่อมามีแอฟริกาใต้เข้าร่วมในปี 2553 ขณะที่อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่านและสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ หรือยูเออี เข้าเป็นสมาชิกในปีนี้
เศรษฐกิจของสมาชิกกลุ่มบริกส์ คิดเป็นมูลค่ากว่า 28.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประมาณร้อยละ 28 ของเศรษฐกิจโลก
โมฮัมหมัด ฮาซาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียกล่าวว่า ขณะนี้มาเลเซียพอใจกับโอกาสทางการค้าที่ดียิ่งขึ้น เนื่องจากกลุ่มบริกส์มีประชากรรวมกันกว่า 3,200 ล้านคน นายกรัฐมนตรีมาเลเซียอันวาร์ อิบราฮิม ยืนยันเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า มาเลเซียได้สมัครเพื่อขอเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มบริกส์แล้ว
ในส่วนของประเทศไทยนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีต่างประเทศ เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม
ฮัลมี อัซรี นักวิเคราะห์ความเสี่ยงทางการเมืองอิสระ กล่าวกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นเอของสิงคโปร์ว่า มีความเป็นไปได้ที่สมาชิกอาเซียนทั้ง 4 ประเทศ ต้องการเพิ่มโอกาสทางการค้าและกระจายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันพุธ ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวต่อที่ประชุมที่จัดขึ้นระหว่างระหว่างวันที่ 22-25 ตุลาคมว่า มีประเทศมากกว่า 30 ชาติแสดงความปรารถนาที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มบริกส์.-815.-สำนักข่าวไทย