กรุงเทพฯ 15 มี.ค. – กระทรวงเกษตรฯ ขอความร่วมมืองดทำนาปรังรอบ 2 โดยส่งเสริมการปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทน ย้ำ 14 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาไม่ควรปลูกข้าวโดยเด็ดขาด เสี่ยงเสียหายจากการขาดแคลนน้ำและอาจเกิดภาวะน้ำเค็มรุก
นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขอความร่วมมืองดทำนาปรังรอบที่ 2 ทุกพื้นที่เนื่องจากต้องบริหารจัดการน้ำตามแผนโดยให้เพียงพอใช้จนถึงต้นฤดูฝน ขณะนี้พื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศเกินกว่าแผนที่กำหนดไว้ถึงร้อยละ 160 ส่วนลุ่มเจ้าพระยาเกินกว่าแผนร้อยละ 448
ปัจจุบันอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศมีน้ำใช้การได้ร้อยละ 32 ส่วน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยาได้แก่ภูมิพล สิริกิติ์ แควน้อยฯ วัดป่าสักมีน้ำใช้การร้อยละ 18 ดังนั้นพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาควรงดนารอบที่ 2 โดยเด็ดขาดเพราะเสี่ยงที่ข้าวจะเสียหายจากการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งอาจทำให้เกิดภาวะน้ำเค็มรุก
กระทรวงเกษตรฯ ส่งเสริมการเพาะปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนได้แก่ พืชไร่ พืชผัก และไม้ดอก กรมชลประทานนำเครื่องจักรเครื่องมือไปบริหารจัดการน้ำส่งให้ทุกกิจกรรมและช่วยเหลือพื้นที่แล้ง ส่วนมาตรการระยะยาวจะเพิ่มการกักเก็บน้ำในพื้นที่เกษตรในโครงการแหล่งน้ำในไร่นานอกเขตชลประทานซึ่งดำเนินการโดยกรมพัฒนาที่ดิน
กรมปศุสัตว์สนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์และเวชภัณฑ์ กรมประมงออกให้คำแนะนำการดูแลสัตว์น้ำและการลดต้นทุนอาหาร นอกจากนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตรปฏิบัติการทำฝนทุกพื้นที่ที่สภาพอากาศอํานวย
นายทองเปลว กล่าวต่อว่า ขอความร่วมมือเกษตรกรงดเผาตอซังจากเศษซากพืชและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพราะทำให้สูญเสียธาตุอาหารในดิน สิ่งมีชีวิตในดินตาย ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจและเกิดภาวะก๊าซเรือนกระจกโลกร้อนขึ้นฝนไม่ตกตามฤดูกาล เกิดภัยพิบัติต่างๆ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม เป็นต้น โดยกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปให้ความรู้เกษตรกรในการไถกลบวัชพืชและนำเศษซากพืชมาผลิตปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยน้ำชีวภาพซึ่งสามารถลดต้นทุนในการปรับปรุงดิน โดยศูนย์แก้ปัญหามลพิษทางอากาศ (ศกพ.) ระบุว่า ฤดูแล้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ แก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ . – สำนักข่าวไทย