กรุงเทพฯ 15 มี.ค. – เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ขสป.ห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ ช่วยชีวิตเก้งจากบ่วงดักสัตว์ในพื้นที่ใกล้แนวเขตชุมชน ส่วน “เจ้าเพชร” เลียงผาน้อยอายุ 3 วันที่พลัดหลงแม่กลางป่าถ้ำเจ้าราม จ.สุโขทัยอยู่ในการอนุบาลของเจ้าหน้าที่จนกว่าจะเติบโตพอ แล้วจะปล่อยกลับคืนธรรมชาติ
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 อุบลราชธานีกล่าวว่า เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า (ขสป.) ห้วยศาลา จ.ศรีสะเกษ พบเก้งเพศผู้ อายุประมาณ 3 ปี ติดบ่วงลวดสลิงรัดขาซ้ายหน้าในสภาพอ่อนแรง จึงเร่งช่วยเหลือ โดยใช้เวลาประมาณ 20 นาที สามารถปลดออกจากบ่วงได้
ทั้งนี้บริเวณที่เกิดเหตุเกิดอยู่ในเขต ขสป.ห้วยศาลา ด้านทิศเหนือจุดสกัดมังจาประมาณ 700 เมตร ห่างจากแปลงที่ดินผ่อนผันตามมติ ครม. 30 มิ.ย. 41 ประมาณ 100 เมตร ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้บ้านนาตราว ต.ดงรัก อ.ภูสิงห์ ประมาณ 3.5 กม จากแผนลาดตระเวนซึ่งกำหนดให้เพิ่มความถี่ในรอบการเดิน ตรวจเก็บบ่วงตามแนวเขตชุมชนและแปลงแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน เนื่องจากในฤดูร้อนแหล่งน้ำในป่า ค่อยข้างหายาก จึงทำให้สัตว์ป่า ออกมาหากินริมขอบที่ดินของราษฎร จึงทำให้มีการลักลอบดักสัตว์บ่อยครั้ง ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้โชคดีที่เจ้าหน้าที่ลาดตระเวนมาพบก่อนที่จะเกิดการสูญเสีย จึงได้กำชับเจ้าหน้าที่ให้หาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมาย เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวน นอกจากนี้ยังได้ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปดำเนินการประชาสัมพันธ์ในชุมชนใกล้เคียงให้เข้าใจเรื่องการอนุรักษ์มากขึ้นต่อไป ส่วนเก้งที่ติดบ่วงตรวจสอบไม่พบบาดแผลใดๆ ที่จะเป็นอันตราย จึงได้ปล่อยคืนสู่ป่าแล้ว
สำหรับความคืบหน้าของ “เจ้าเพชร” เลียงผาน้อย เพศผู้อายุ 3 วันที่พลัดหลงแม่กลางป่าในเขต ขสป.ถ้ำเจ้าราม จ.สุโขทัย นายกิติพัทธ์ แสงแก้ว หัวหน้าขสป.ถ้ำเจ้ารามกล่าวว่า นำตัวมาอนุบาลที่ที่ขสป.ถ้ำเจ้ารามก่อน เพราะหากปล่อยในตอนนี้อาจถูกสัตว์อื่นทำร้ายได้
ทั้งนี้เลียงผาน้อยวิ่งออกจากพุ่มไม้ ตรงเข้ามาหาเจ้าหน้าที่ที่กำลังลาดตระเวนด้วยท่าทางตื่นกลัว คาดว่าแม่เลียงผาน่าจะถูกฝูงสุนัขจิ้งจอกวิ่งไล่และหนีหายเข้าไปในป่า เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนได้เฝ้าระวังเพื่อรอว่าแม่จะกลับออกมาหรือไม่จนผ่านไป 1 วัน 1 คืน แม่ไม่มีวี่แววที่จะออกมา จึงนำมาอนุบาลก่อน
เลียงผาเป็นสัตว์กีบคู่ (Artiodactyla) ในวงศ์มหิงสา (Bovidae) เช่นเดียวกับ วัว ควาย แพะ แกะ อยู่ในวงศ์ย่อยแพะแกะ (Caprinae) และเป็นสัตว์โบราณที่สุดของวงศ์ย่อยแพะแกะ มีรูปร่างคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขอยาว มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี แต่อาจยาวสุดเพียง 32 เซนติเมตร เมื่ออยู่ในกรงเลี้ยงมีอายุได้ถึง 21 ปี นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ออกหากินตอนเย็นและตอนเช้ามืด กินพืชต่างๆ เป็นอาหาร ชอบอาศัยตามหน้าผาสูงชัน
ปัจจุบันทั้งเลียงผาและเก้งอยู่ในสถานะสัตว์ป่าสงวน ผู้กระทำผิดตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มาตรา 17 ฐานมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าสงวนโดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 92 จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 22 ฐานพยายามส่งออกไปนอกราชอาณาจักรซึ่งสัตว์ป่าสงวน โดยไม่ได้รับอนุญาต มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 89 จำคุก 3-15 ปี ปรับ 300,000 – 1,500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ . -สำนักข่าวไทย