กรุงเทพฯ 1 มี.ค. – “ก.พลังงาน” เตรียมเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน ในแผนพลังงานชาติระยะยาว ตามเป้าหมายของโลกที่หลายประเทศ เริ่มประกาศลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ในอนาคต
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน เตรียมใช้เวทีการหารือเชิงนโยบาย (Policy Dialogue) กับ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (เมติ) ของญี่ปุ่น เพื่อนำแนวทางที่ญี่ปุ่นเพิ่งประกาศ Carbon Neutral by 2050 (พ.ศ. 2593 ) โดยยกระดับญี่ปุ่นให้กลายเป็นประเทศที่มีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2050 และยังมียุทธศาสตร์การเติบโตด้านพลังงานสะอาด “green growth strategy เพื่อใช้เป็นแนวทาง ในการจัดทำแผนพลังงานชาติของประเทศไทย ซึ่งไทยก็ต้องลดเป็นศูนย์เช่นกันในอนาคต โดย โจทย์ทั้งหมดจะมีความชัดเจนภายในเดือน มี.ค. นี้ และจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาอุตฯ สภาหอการค้าไทยฯ และกลุ่มอุตฯยานตร์ จากนั้นก็เสนอต่อนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เห็นชอบแผน และเปิดรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และจะเสนอ ครม.อนุมัติ ในช่วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้
“แผนไฟฟ้า แผนน้ำมันฯก็ต้องมาดูเรื่องพลังงานสะอาด และ หากการส่งเสริมใช้ยายนต์ไฟฟ้า(อีวี) เกิดขึ้น หรือเข้ามาเร็ว ยอดการใช้น้ำมันจะเป็นอย่างไร และแผนบริการจัดการเอทานอลกับไบโอดีเซล จะต้องปรับอย่างไร เพราะใน 5ปีข้างหน้า กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่สามารถนำเงินมาอดุหนุนราคาได้แล้วตามข้อกำหนดของกฎหมาย รวมถึงโรงกลั่นน้ำมัน จะต้องปรับตัวอย่างไรหากอีวีเข้ามา” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
ทั้งนี้ คาดว่าพลังงานหมุนเวียนจะต้องปรับเพิ่มขึ้นแน่นอน จากเดิมกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนตลอด 20ปี อยู่ที่ร้อยละ 25 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศ เพื่อให้ตอบโจทย์ลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงหากเปิดเสรีทั้งไฟฟ้าและก๊าซฯแล้ว โครงการสร้างไฟฟ้าในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร และก็ต้องพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด หรือ จัดทำ Grid modernization ซึ่งทั้ง 3 การไฟฟ้าต้องประสานความร่วมมือกัน เพื่อรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าให้มีความเสถียรมากขึ้น เป็นต้น . – สำนักข่าวไทย