10 กุมภาพันธ์ 2564
ตรวจสอบข้อเท็จจริง, เรียบเรียง โดย : พีรพล อนุตรโสตถิ์, กลาง ณัฐนที
สังคมออนไลน์แชร์ ไม่ควรรับประทาน “ถั่งเช่า” เพราะทำให้ “ไตวาย” ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ ตรวจสอบกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ ยืนยันว่าข้อมูลดังกล่าว “มีส่วนจริง”
ตามที่มีการแชร์ข้อมูลในโซเชียล ว่ามีผู้รับประทานสมุนไพรหรืออาหารเสริม “ถั่งเช่า” แล้วไตวาย บางคนหยุดทานแล้วอาการดีขึ้น แต่บางคนไตพังจนต้องล้างไตตลอดชีวิต รวมถึงมีผู้เสียชีวิตหลังจากรับประทานถั่งเช่าด้วย
ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย
ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ตรวจสอบกับ พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยันว่า “ถั่งเช่าทำให้ไตวายได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รับประทานถั่งเช่าแล้วจะไตวาย ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย”
ในฐานะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการรักษาโรคไต และ อดีตนายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร ระบุว่า แพทย์ผู้รักษาโรคไตหลายคนพบแนวโน้มว่า ผู้ป่วยที่รับประทานถั่งเช่าบางคน มีการทำงานของไตแย่ลง และเมื่อให้หยุดการรับประทานถั่งเช่าแล้วการทำงานของไตดีขึ้น ดังนั้น จึงเห็นความเป็นไปได้ว่า การรับประทานถั่งเช่าอย่างต่อเนื่องอาจจะส่งผลให้ไตวายได้ในที่สุด
ถั่งเช่าที่เป็นยาโบราณคือ “ถั่งเช่าทิเบต”
พล.อ.ท.นพ.อนุตตร อธิบายว่า ถั่งเช่า (Cordyceps) เป็นเชื้อราชนิดหนึ่งที่กินหนอนผีเสื้อแล้วเจริญเติบโต มีมากกว่า 200 ชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน โดยถั่งเช่าที่มีชื่อเสียงและเป็นยาโบราณคือ “ถั่งเช่าทิเบต” ซึ่งมีราคาสูงและใช้เป็นสมุนไพรในประเทศจีน ที่ผ่านมามีการศึกษาสรรพคุณของถั่งเช่าทิเบต แต่ผลยังไม่ชัดเจนว่าช่วยบำรุงรักษาไตได้ ส่วนกรณีที่ถั่งเช่าทิเบตจะทำให้เกิดไตวายนั้น มีน้อยมาก อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน จากสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลง จึงพบว่าถั่งเช่าทิเบตมีการสร้างสารเคมีบางอย่าง และอาจมีการปนเปื้อนของโลหะหนักด้วย
ถั่งเช่าที่นิยมรับประทานในปัจจุบัน เชื่อว่าไม่ใช่ “ถั่งเช่าทิเบต”
ทั้งนี้ ถั่งเช่าที่รับประทานและขายในปัจจุบันเชื่อว่าไม่ใช่ถั่งเช่าทิเบต ส่วนใหญ่จะเป็นถั่งเช่าที่เอาเชื้อราไปเพาะในขวดหรือฟาร์มใหญ่ ๆ ซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง และยังไม่มีการศึกษากับมนุษย์อย่างชัดเจน เชื้อราดังกล่าวมีความแตกต่างจากเชื้อราทิเบตมากพอสมควร แต่ผู้บริโภคมักเข้าใจผิดคิดว่าเป็นเชื้อราชนิดเดียวกัน
ถั่งเช่ากับข้อพิสูจน์ทางการแพทย์
พล.อ.ท.นพ.อนุตตร กล่าวว่า ยังไม่มีข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ว่ารับประทานถั่งเช่าแล้วได้ประโยชน์ แต่มีโอกาสเกิดผลเสียต่อร่างกาย ที่ผ่านมามีผู้ป่วยโรคไตรับประทานถั่งเช่าแล้วไตเสื่อมลงจริง ส่วนหนึ่งหยุดทานแล้วอาการดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งการทำงานของไตไม่ฟื้น ทำให้ต้องล้างไตในที่สุด ดังนั้น ถั่งเช่าทำให้ไตวายได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่รับประทานถั่งเช่าแล้วจะไตวาย ขึ้นอยู่กับชนิด ปริมาณ และระยะเวลาที่รับประทานด้วย
พล.อ.ท.นพ.อนุตตร ย้ำว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ถั่งเช่าเข้ามาในฐานะอาหารเสริม หมายถึงผู้ที่ขาดสามารถรับประทานเพิ่มเติม ผู้ที่สุขภาพแข็งแรงตามปกติไม่จำเป็นต้องรับประทาน อาหารเสริมและสมุนไพรทุกชนิดควรรับประทานแต่พอดี หากรับประทานเกินควรจะเป็นผลเสียได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำในการรับประทานอาหารเสริม
3 ปัจจัย ขีดเส้นอันตราย-ปลอดภัยของยาและสมุนไพร
ไม่ว่าจะเป็นยาแผนปัจจุบัน สมุนไพร หรืออาหารเสริม สิ่งที่จะเป็นปัจจัยกำหนดว่า รับประทานแล้วจะปลอดภัยหรือไม่ ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย
- คุณสมบัติของสมุนไพรหรือยานั้น บางชนิดมีคุณสมบัติภายในตัวที่เป็นพิษร้ายแรงจนมีการออกกฎหมายห้ามจำหน่ายและนำเข้า แต่บางกรณีความเป็นพิษก็มาจากการปนเปื้อนในกระบวนการผลิต หรือกระบวนการเก็บรักษา
- ขนาดที่รับประทาน ไม่ว่ายาหรือสมุนไพรชนิดใด หากรับประทานในปริมาณที่มากเกินไป หรือ รับประทานติดต่อกันนานเกินไป ก็อาจะส่งผลต่อร่างกายได้
- ผู้รับประทานเอง สุขภาพพื้นฐานของผู้ป่วย อายุ เพศ โรคประจำตัว หรือแม้แต่ยาอื่น ๆ ที่รับประทานอยู่ อาจจะมีความไม่เหมาะสมและก่อผลเสียตามมาได้ ดังนั้น ผู้ป่วยจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนตัดสินใจเกี่ยวกับยาหรืออาหารเสริม ไม่ว่าจะเป็นการกินเพิ่มหรือการหยุดยาหรือเปลี่ยนยาก็ตาม
บทสรุป
สำหรับข้อมูลที่แชร์บนสังคมออนไลน์ว่า “ถั่งเช่าทำให้ไตวาย” พลอากาศโท นายแพทย์อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำว่า “แชร์ได้” หากผู้ที่แชร์มาเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่สามารถเชื่อถือได้ แต่ “ไม่ควรแชร์” ข้อมูลที่มีการอวดอ้างสรรพคุณถั่งเช่าเกินจริง เพราะจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมได้
🎯 หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์” 🎯
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.me/ti/p/%40sureandshare
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: https://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter