สมุทรปราการ 19 ม.ค. – ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยซีพี หลังได้รับร้องเรียนประชาชนยังเข้าไม่ถึง และมีการขายหน้ากากอนามัยเกินราคาในร้านสะดวกซื้อของเครือซีพี
นายวทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่บริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ หลังนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยของเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อแจกจ่ายฟรีแก่โรงพยาบาลที่มีความจำเป็น และประชาชนทั่วไปที่ขาดโอกาสในการเข้าถึง แต่ปัจจุบันในการแพร่ระบาดระลอกใหม่ ประชาชนกลับยังไม่สามารถเข้าถึง อีกทั้งร้านสะดวกซื้อในเครือซีพีขายหน้ากากอนามัยแพงกว่าราคาตามที่กฎหมายควบคุม
ภายหลังร่วมประชุมและตรวจเยี่ยมโรงงาน พบว่าการผลิตหน้ากากอนามัยของบริษัทซีพี มีวัตถุประสงค์เพื่อแจกฟรีให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนประชาชนกลุ่มเปราะบาง เช่น คนชรา ผู้พิการ ผู้ยากไร้ไม่มีกำลังซื้อเท่านั้น โดยดำเนินการภายใต้มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์ และผลิตโดยบริษัท ซีพี โซเชียล อิมแพคท์ จำกัด ซึ่งมีการดัดแปลงอาคารชั้น 3 ของบริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด มาสร้างเป็นห้องปลอดเชื้อ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับเครื่องจักร และใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีกำลังการผลิตราว 3 ล้านชิ้นต่อเดือน โดยมอบให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แจกจ่ายไปยังทุกโรงพยาบาลในประเทศ และปัจจุบันได้ส่งมอบหน้ากากอนามัยให้แก่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ไปแล้วกว่า 11 ล้านชิ้น โดยแจกจ่ายให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล องค์กรการกุศล และมูลนิธิ รวมกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ด้วยกำลังการผลิตประมาณเดือนละ 3 ล้านชิ้น กรมการค้าภายในได้ส่งสายตรวจกรมการค้าภายในมาประจำที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยจำนวน 2 คน เพื่อตรวจนับจำนวนหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้ในแต่ละวัน รวมถึงควบคุมการจัดส่งหน้ากากอนามัย เนื่องจากเป็นสินค้าควบคุม โดยหน้ากากอนามัยที่ผลิตได้จะเป็นหน้ากากอนามัยประเภท Surgical Mask จัดอยู่ในกลุ่มของอุปกรณ์หรือเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งได้การรับรองมาตรฐานจาก Nelson Labs องค์กรมาตรฐานอุปกรณ์ทางการแพทย์จากสหรัฐอเมริกา
สำหรับการตรวจติดตามการผลิตและการกระจายหน้ากากอนามัยของผู้ผลิตสินค้าหน้ากากอนามัยทุกโรงงานจะมีคณะกรรมการเฉพาะกิจเกี่ยวกับการบริหารจัดการพัสดุ สำหรับการป้องกัน ควบคุม หรือรักษาโรคโควิด-19 โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นผู้รับผิดชอบ
ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ทั้งหมดในวันนี้จะส่งให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อประกอบการพิจารณา และประชุมรับฟังการชี้แจงเรื่องมาตรการรัฐ ทั้งประเด็นหน้ากากและการควบคุมราคา-วัคซีน เอื้อนายทุนตามคำร้องเรียนดังกล่าว ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ศบค. กระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงมหาดไทย ในวันที่ 22 มกราคมนี้.-สำนักข่าวไทย