กรุงเทพฯ 9 ธ.ค. – สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์ และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนทำหนังสือถึง รมช.เกษตรฯ ทบทวนร่างกฎกระทรวง 12 ฉบับ ระบุเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ มั่นใจยังสามารถปรับแก้ให้เหมาะสม
นายปรเมศวร์ อินทรชุมนุม ประธานสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย (สสท.) กล่าวว่า สหกรณ์ทั่วประเทศเห็นว่าการทำงานของคณะทำงานในการร่างกฎกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 12 ฉบับตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ซึ่งออกมาเพื่อกำกับการดำเนินงานของสหกรณ์นั้น ไม่มีคนของขบวนการสหกรณ์ร่วมแสดงความคิดเห็น หรือชี้แจงถึงผลกระทบจากการร่างกฎกระทรวง
ทั้งนี้ การออกกฎบังคับใด ๆ ควรสอบถามความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติงาน และควรมีคนของขบวนการสหกรณ์ ซึ่งมีความสามารถและศักยภาพเพียงพอเข้าไปร่วมขับเคลื่อนการร่างกฎกระทรวง เพื่อให้ทุกฝ่ายพึงพอใจกับกฎกระทรวงดังกล่าวมากกว่ามาบีบบังคับให้สหกรณ์ต้องปฏิบัติตามร่างกฎกระทรวงที่ภาคสหกรณ์ไม่ได้กำหนด
ล่าสุดทำหนังสือถึงนางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนการขับเคลื่อนร่างกฎกระทรวงตามมาตรา 89/2 แห่ง พ.ร.บ.สหกรณ์ฉบับที่ 3 พ.ศ. 2562 สิ่งที่เป็นห่วง คือผลประกอบการและการดำเนินงาน ซึ่งไม่สามารถดำเนินงานต่อไปได้ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาและอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการดำเนินงานของขบวนการสหกรณ์ในอนาคตและเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของสหกรณ์ในฐานะผู้ปฏิบัติและผู้แบกรับภาระของสหกรณ์ไว้ ซึ่งไม่อาจจะนิ่งเฉยต่อไปได้อีก
ผู้แทนสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนกว่า 500 คน นำโดยสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแห่งประเทศไทย จำกัด และชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์ 7 วิชาชีพจะรวมตัวกันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแสดงออกและยื่นข้อเรียกร้องต่อนางสาวมนัญญา เพื่อขอรับทราบเนื้อหาของร่างกฎกระทรวง 7 ฉบับ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเสร็จแล้ว ขอให้ชะลอการพิจารณาร่างของกฎกระทรวงอีก 5 ฉบับที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้
จากนั้นตั้งคณะทำงานร่วมจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องและผู้แทนขบวนการสหกรณ์ เพื่อพิจารณาปรับปรุงในประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ขอให้ผู้แทนขบวนการสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนเข้าร่วมชี้แจงในประเด็นที่ยังเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ในชั้นตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไปด้วย
“หากกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเพิกเฉยต่อข้อเสนอแนะหรือข้อเรียกร้อง สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน พร้อมที่จะยกระดับการเรียกร้องต่อไป” นายปรเมศวร์ กล่าว
สำหรับกฎกระทรวงทั้ง 12 ฉบับดังกล่าว แม้จะผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนแล้ว แต่กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และ ธปท.มิได้ให้ความสำคัญต่อความคิดเห็นของขบวนการสหกรณ์และไม่หยิบยกมาพิจารณาปรับปรุงร่างกฎกระทรวง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหรืออุปสรรคต่อการดำเนินงานของสหกรณ์ ยังคงยึดเอาความเห็นของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งไม่เข้าใจระบบสหกรณ์และไม่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือช่วยเหลือสหกรณ์เป็นสำคัญ
ทั้งนี้ กฎกระทรวง 5 ฉบับหลังยังมีประเด็นสำคัญหลักที่สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนไม่เห็นด้วยและจะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารงานสหกรณ์หรือส่งผลกระทบต่อสมาชิกสหกรณ์ ดังนี้
1.เงินกู้สามัญของสมาชิกต้องชำระคืนให้เสร็จภายใน 150 งวด (12.5 ปี) ซึ่งสหกรณ์เห็นว่าควรกำหนดเป็นไม่เกิน 180 งวด (15 ปี) จะเหมาะสมและผ่อนคลายแก่สมาชิกมากกว่า
2.สมาชิกผู้กู้ต้องมีเงินได้รายเดือนหลังหักชำระหนี้ คงเหลือสุทธิไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตลอดอายุสัญญา ซึ่งสหกรณ์เห็นว่าเงินได้รายเดือนคงเหลือสุทธิควรยึดโยงกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
3.สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนใช้เกณฑ์เดียวกับสหกรณ์ออมทรัพย์ในการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ทั้งที่บริบทของสมาชิกและการชำระหนี้ของสหกรณ์สองประเภทนี้แตกต่างกัน ซึ่งสหกรณ์เห็นว่าควรใช้เกณฑ์เดียวกับสหกรณ์การเกษตร จะเหมาะสมมากกว่า
4.การไม่นำมูลค่าหุ้นของสมาชิกผู้กู้มาหักออกจากหนี้เงินต้นคงเหลือก่อนประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ ซึ่งขบวนการสหกรณ์มีความเห็นว่า ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เป็นการประมาณการความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้สูญ ดังนั้น จึงควรนำมูลค่าหุ้นมาหัก (ซึ่งสหกรณ์มีบุริมสิทธิพิเศษตามมาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์) เพื่อลดยอดหนี้ (ยอดความเสี่ยง) คงเหลือก่อนประมาณการค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญได้ เพราะไม่ได้หักหนี้กันจริง ๆ ที่ต้องมาพิจารณาว่าหุ้นเป็นทรัพย์สินของสมาชิกหรือเป็นทุนของสหกรณ์
5.การทยอยประมาณการค่าเผื่อการปรับมูลค่าที่ดินแทนการชำระหนี้รอขายไว้ในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี จนกว่าที่ดินแทนการชำระหนี้จะมีมูลค่าร้อยละ 50 ซึ่งสหกรณ์เห็นว่าควรตัดออก เพราะเมื่อกำหนดให้ตีราคาชำระหนี้ตามราคาประเมินของทางราชการหรือร้อยละ 70 ของราคาประเมินจากผู้ประเมินรับอนุญาตแล้ว ก็ไม่ควรประมาณการค่าเผื่อดังกล่าว อีกทั้งที่ดินมีแต่จะปรับเพิ่มมูลค่า.-สำนักข่าวไทย