กรุงเทพฯ 30 พ.ย. – ธปท. เผยเครื่องชี้สัญญาณเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคมหดตัวสูง หลังปัจจัยชั่วคราวหมดลง พร้อมเตรียมชี้แจงมาตรการแก้ปัญหาค่าบาทเชิงโครงสร้างในรูปแบบแพคเกจในวันที่ 9 ธ.ค. นี้
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือนตุลาคม 2563 โดยเศรษฐกิจไทยเดือนตุลาคม 2563 หดตัวในอัตราสูงเมื่อเทียบกับการหดตัวในเดือนก่อนหน้า จากปัจจัยชั่วคราวหมดลง และฐานสูงในปีก่อน เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนกลับมาหดตัวหลังจากขยายตัวได้เล็กน้อยในเดือนก่อนหน้า เนื่องจากปัจจัยชั่วคราววันหยุดยาวพิเศษหมดลง ขณะที่การส่งออกสินค้าที่ไม่รวมทองคำยังเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน แต่หดตัวสูงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่หดตัวสูง รวมทั้งการใช้จ่ายภาครัฐกลับมาหดตัวจากการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำที่ล่าช้า ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังหดตัวสูง จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศของไทย แม้ในเดือนนี้ภาครัฐเริ่มอนุญาตให้นักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourists Visa หรือ STV ) เดินทางเข้าไทยได้ แต่ก็ยังมีจำนวนน้อย
ขณะที่เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบน้อยลงจากราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น ด้านตลาดแรงงานในภาพรวมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทั้งการจ้างงานและรายได้ แต่ยังเปราะบาง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากอัตราว่างงานและสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานในระบบประกันสังคมที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่วนบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงเล็กน้อยตามดุลบริการรายได้ และเงินโอนที่ขาดดุลเพิ่มขึ้น ขณะที่ดุลการค้าเกินดุลใกล้เคียงเดิม
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความต่อเนื่องของการฟื้นตัวในตลาดแรงงาน สถานการณ์น้ำแล้งและผลกระทบต่อรายได้เกษตรในปี 64 การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย รวมมั้งมาตรการควบคุมการระบาดของแต่ละประเทศซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจกระทบการส่งออก ภาคการท่องเที่ยวไทย ซึ่งส่งเป็นเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
พร้อมมองว่า ยังจำเป็นต้องใช้มาตรการดูแลเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและระยะยาวควบคู่กัน ทั้งนี้ต้องเร่งเน้นไปที่มาตรการระยะยาวเพื่อปรับรูปแบบธุรกิจให้สามารถดำเนินการได้ในสภาวะแวดล้อมใหม่ และนโยบายด้านการค้าของสหรัฐฯ หลังนายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่ง
ขณะที่การแข็งค่าของเงินบาท โดยเฉพาะในเดือนพฤศจิกายนที่แข็งค่าขึ้นมากจากความคืบหน้าของวัคซีนป้องกันโควิด-19 และผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่ง ธปท. ยังคงติดตามความเคลื่อนไหวของเงินบาทอย่างใกล้ชิด โดยในวันที่ 9 ธันวาคมนี้ ธปท. เตรียมเปิดเผยสถานการณ์และความคืบหน้าของมาตรการดูแลค่าบาทที่ได้ออกมาก่อนหน้านี้ และเตรียมเปิดเผยมาตรการเพิ่มซึ่งจะออกมาเป็นแพคเกจในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของอัตราแลกเปลี่ยนไทย .-สำนักข่าวไทย