กรุงเทพฯ 28 ก.ย..-นักวิชาการ เอ็นจีโอด้านเด็กและครอบครัว หนุนผู้ปกครองดำเนินคดีตามกฎหมาย กรณีครูทำร้ายเด็ก ชี้โรงเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัย ส่งเสริมบทบาทผู้ปกครองร่วมตรวจสอบเฝ้าระวัง จี้พม.เร่งเยียวยาจิตใจเด็ก
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า กรณีครูทำร้ายร่างกายเด็กอนุบาลตามที่ปรากฎเป็นข่าว ว่า ครูที่ทำร้ายเด็ก รวมถึง ครูที่พบเห็นเหตุการณ์แล้วนิ่งเฉย และผู้บริหารโรงเรียน ถือเป็นผู้เกี่ยวข้องกับการทำร้ายร่างกายเด็ก ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อจิตใจเด็ก กระทบต่อพฤติกรรมของเด็กที่แสดงออก เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน หวาดกลัว ฝันร้าย สิ่งเหล่านี้ต้องการการเยียวยา และความรับผิดชอบ ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองมีส่วนสำคัญในการเฝ้าระวังช่วยเหลือ และมีบทบาทร่วมดูแลเด็กในสถานศึกษา รวมทั้ง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ต้องทำงานเชิงรุกคุ้มครองเด็ก
“อยากให้ พม.ที่มีหน้าที่หลัก และเป็นผู้ถือกฎหมาย พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ได้ทำหน้าที่ดำเนินการเรื่องนี้ อย่างจริงจังฉับไว และ พม. ควรกระตุ้นการมีส่วนร่วมคุ้มครองเด็กในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาล สถานศึกษา พูดคุยให้ความรู้ บุคลากรในสถานศึกษา รวมทั้ง มาตรการทางกฎหมายหากมีการละเมิดเด็กเกิดขึ้น ควรสื่อสารต่อสังคมให้กว้างขวางถึงอำนาจหน้าที่และการช่วยเหลือเด็กและครอบครัวที่ถูกกระทำ และขอเรียกร้องให้โรงเรียนมีแอพพลิเคชั่น ให้ผู้ปกครองโหลดเพื่อให้เห็นกล้องวงจรปิดในห้องเรียน บริเวณโรงเรียน เพื่อมีส่วนร่วมตรวจสอบ การเรียนการสอน การจัดการห้องเรียน โรงเรียนควรเป็นที่ปลอดภัย ไม่เป็นความลับ และควรส่งเสริม เพิ่มบทบาทของผู้ปกครองในสถานศึกษา ร่วมเฝ้าระวัง ช่วยเหลือ นักเรียน และตรวจสอบบุคลากรรวมทั้งผู้บริหารในโรงเรียน หากละเมิดเด็กหรือการกระทำใดๆ เครือข่ายผู้ปกครองมีสิทธิขอตั้งกรรมการสอบสวน ให้หยุดงาน หรือไล่ออกออกได้” นางฐาณิชชา กล่าว
ด้าน ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน นักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระด้านเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า กรณีนี้ความรุนแรงที่เกิดกับเด็ก เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ และเรื่องนี้ไม่ควรจบที่ครูผู้ที่กระทำเด็กเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่สถาบันการศึกษา และเจ้ากระทรวงต้องมีส่วนต่อความรับผิดชอบด้วย เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรก แต่มีเหตุการณ์ทำนองนี้หลายครั้งแล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ปกครองไปฟ้องร้องเอาเอง พอจบกรณีนี้ เรื่องก็เงียบไป จากนั้นพอเกิดกรณีใหม่ ก็จะเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีก ต้องตั้งคำถามว่าสถาบันการศึกษามีมาตรการต่อการรับครูและครูพี่เลี้ยงอย่างไร และเมื่อครูเคยกระทำการไม่เหมาะสม ผู้บริหารได้ดำเนินการอย่างไร และมีวิธีตรวจสอบครูถึงวิธีการดูแลเด็กในแต่ละวันหรือไม่อย่างไร ส่วนเจ้ากระทรวงมองปัญหาและรับมือกับเรื่องนี้อย่างไร ควรตระหนักและมีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นโดยมีเด็กเป็นเหยื่อซ้ำซากอีก
“เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของใครโดยลำพัง แต่เป็นปัญหาร่วมของสังคม ในเมื่อเราบอกว่าเด็กคืออนาคตของชาติ เด็กเล็กคือวัยทองแท้ของชีวิตมนุษย์ แล้วเราจะปล่อยเรื่องนี้ไปได้อย่างไร เรามี พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก เรามีกฎหมายมากมายหลายฉบับ แต่ไฉนปัญหาเหล่านี้ยังวนเวียนอยู่ซ้ำๆ” ดร.สรวงมณฑ์ กล่าว
ด้าน นายชูวิทย์ จันทรส เลขาธิการมูลนิธิเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า การจับสัญญาณของเด็กๆเป็นเรื่องสำคัญมาก ความผิดปกติที่เด็กๆแสดงออกมีรูปแบบที่ต่างกันไป แต่หากผู้ปกครองจับสัญญาณดีๆจะพบความผิดปกติเกิดขึ้นได้เร็ว เช่น ไม่อยากไปโรงเรียน หวาดกลัว เงียบผิดปกติและไม่กล้าเล่าว่าอะไรเกิดขึ้น ร่างกายมีความผิดปกติเขียวช้ำ จากการถูกทำร้าย ซึ่งไม่ใช่แค่ผู้ปกครองเท่านั้น ครูคนอื่นๆก็ควรมีจิตวิญญาณของความเป็นครู มีสัญชาตญาณระวังภัยให้กับเด็กๆ แต่จากคลิปในเหตุการณ์นี้ ครูทำเหมือนไม่มีอะไรร้ายแรง ทำเป็นเรื่องปกติ ไม่ห้ามปรามช่วยเหลือ จุดนี้น่ากลัวมากมันสะท้อนว่าโรงเรียนแห่งนี้มีปัญหารุนแรงจริงๆ และไม่มีใครรู้ว่าเป็นแบบนี้มานานเท่าไหร่แล้ว ล่าสุดมีข่าวว่ามีการไล่ออกครูผู้ก่อเหตุและครูที่อยู่ในเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว แต่ใช่ว่าผู้บริหารจะหลุดพ้นไปจากความรับผิดชอบ สิ่งที่อยากเห็นนอกจากคำขอโทษคือมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อปิดทางไม่ให้เกิดขึ้น
“ขอสนับสนุนให้ผู้ปกครองเอาผิดครูที่ก่อเหตุและครูที่เพิกเฉย ให้เป็นตัวอย่างความรับผิดทางอาญา เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานว่า ครูไม่ว่าใครก็ตามคุณไม่สามารถละเมิดสิทธิของเด็กๆได้ ทั้งทางคำพูดและการกระทำ เรามีกฎหมายรองรับเรื่องนี้ไว้อย่างชัดเจน กระทรวง พม.ต้องเดินหน้ายืนเคียงข้างเด็กๆและผู้ปกครองอย่างเต็มกำลัง รวดเร็ว ตอนนี้ต้องรีบเข้าเยียวยาฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก และอาจต้องช่วยกันออกแบบว่าจะทำอย่างไรให้เด็กๆในโรงเรียนนี้เชื่อมั่นว่าพวกเขาจะไม่โดดเดี่ยว มีกลไกที่ช่วยเหลืออย่างเข้าใจ” นายชูวิทย์ กล่าว .-สำนักข่าวไทย