กทม.21 ก.ย.- สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินหน้าเอาผิดผู้ชุมนุมทุกข้อหาไม่เว้น ม. 112 ส่วนหมุดคณะราษฎร 63 ยันไม่รู้คนถอด แต่ถือเป็นของกลางในคดี
พลตำรวจโทปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงการเตรียมดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง วันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา หลังพบว่ามีแกนนำประมาณ 3-4 คน เข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย แยกเป็นการกระทำผิดของแต่ละบุคคลทั้งการบุกรุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การใช้พื้นที่สนามหลวง และการพบเอกสารที่มีข้อความไม่เหมาะสม รวมทั้งผู้ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มผู้ชุมนุมนี้ด้วย
ขณะนี้ตำรวจกำลังรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะดำเนินคดีทุกข้อกล่าวหาโดยเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่ไม่แจ้งจัดการชุมนุม และทุกข้อกฎหมายที่พบว่ามีความผิด ประกอบกับการแจ้งความร้องทุกข์ของผู้ที่มาแจ้งความไว้ที่ สน.ชนะสงคราม วันนี้ (21 ก.ย.)
ส่วนการปราศรัยบนเวทีของแกนนำจะเข้าข่ายความผิดกฎหมายอาญามาตรา 112 หมิ่นสถาบันเบื้องสูงหรือไม่นั้น พลตรวจโทปิยะ กล่าวว่า หากพบว่ามีบุคคลร้องทุกข์และพบพยานหลักฐานว่ามีกระทำความผิดก็จะดำเนินคดีในทุกมาตราขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะมีบุคคลใดมีความผิดนี้หรือไม่ โดยมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดแล้ว
พลตำรวจโทปิยะ ยังกล่าวถึงหนังสือที่ผู้ชุมนุมยื่นข้อเรียกร้องผ่านผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ขณะนี้ได้ส่งมาให้ฝ่ายกฎหมาย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบแล้วว่ามีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง และเข้าข่ายผิดกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าเกี่ยวข้องกับหน่วยงานใดก็จะส่งมอบไปให้ตามขั้นตอน หากพบว่ามีข้อความที่ผิดกฎหมายก็จะถูกดำเนินคดีเช่นกัน
ด้านพันตำรวจเอกกฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกรณีหมุดคณะราษฎร 63 ที่หายไปจากจุดที่กลุ่มผู้ชุมนุมฝังเอาไว้ โดยไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้รื้อถอนหมุดดังกล่าวออก แต่หมุดนี้ถือว่าเป็นหนึ่งในพยานหลักฐานและเป็นของกลางที่พนักงานสอบสวน จะต้องเก็บรักษาไว้ในการดำเนินคดีอาญากับกลุ่มผู้ชุมนุม เบื้องต้น ผกก.สน.ชนะสงคราม เป็นผู้เสียหายร้องทุกข์กล่าวโทษ ดำเนินคดีกลุ่มผู้ชุมนุมประมาณ 10 คน กรณีจัดการชุมนุมโดยไม่แจ้ง
ส่วนการนัดรวมตัวชุมนุมกันในครั้งต่อไป ตำรวจยังยืนยันขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมปฏิบัติตามกฎหมาย และให้แจ้งการชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ก่อน เพื่อที่จะได้อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไปที่จำเป็นต้องผ่านเส้นทางการจราจร และดูแลความปลอดภัย ป้องกันภัยแทรกซ้อนของกลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งการชุมนุมต่างๆ สามารถกระทำได้ตามสิทธิและตามรัฐธรรมนูญ แต่หากมีการชุมนุมโดยมีนัยยะแอบแฝง ตำรวจไม่สามารถยินยอมได้ และมีการกระทำผิดกฎหมายก็จะต้องดำเนินคดี.-สำนักข่าวไทย