นนทบุรี 12 ก.ย. – พาณิชย์เดินหน้าหามาตรการเยียวยาอุตสาหกรรมอัญมณีฯ หลังคลายล็อกวิกฤติโควิด-19
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยถือว่าเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทย ซึ่งยอดการส่งออกเดือนมกราคม-กรกฎาคม 2563 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 33.73 หรือมีมูลค่า 12,069.53 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 375,985.30 ล้านบาท หากหักทองคำฯ ออก ยอดการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่แท้จริงมีมูลค่า 2,576.68 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าร้อยละ 41.87 จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 อย่างชัดเจน โดยพิจารณายอดการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทย (ไม่รวมทองคำ) เริ่มลดลงตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม – พฤษภาคม 2563 และหลังจากคลายล็อกดาวน์ จึงมีการปรับตัวดีตั้งแต่เดือนมิถุนายนที่ผ่านมา แม้จะไม่มาก แต่ถือเป็นสัญญาณที่ดี
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย รองผู้อำนวยการ รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กล่าวว่า สถาบันฯ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ โดยสนับสนุนการค้าออนไลน์ ซึ่งเป็นช่องทางการซื้อสินค้าในปัจจุบันที่ได้รับความนิยม พร้อมกระตุ้นความมั่นให้กับผู้บริโภคผ่านโครงการซื้อด้วยความมั่นใจผ่านใบรับรอง GIT หรือ ภายใต้โครงการ Buy With Confidence (BWC) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคและนักท่องเที่ยวที่ซื้อสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทย ซึ่งช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย โดยเบื้องต้นได้บูรณาการร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยนำผู้ประกอบการขยายช่องทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มของ Thaitrade.com เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมทั้งผู้บริโภคที่รักอัญมณีและเครื่องประดับให้สามารถเลือกซื้ออัญมณีและเครื่องประดับได้อย่างมั่นใจ ภายหลังการผ่อนปรนมาตรการล็อกดาวน์เดือนพฤศจิกายน 2563 จึงกำหนดจัดงานจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ BWC Fair เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการจำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการ สร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งยังมีแผนนำผู้ประกอบการรายย่อยที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในภูมิภาคของสถาบันไปร่วมออกบูธจำหน่ายสินค้าห้างสรรพสินค้าชื่อดัง เช่น สยามพารากอน เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าไปยังผู้บริโภคโดยตรงอีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการจึงปรับหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันในยุค New Normal โดยเปิดหลักสูตรฝึกอบรมออนไลน์ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการออกแบบ การตลาด ไลฟ์สไตล์ การตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ รวมทั้งโลหะมีค่า ล่าสุดเปิดหลักสูตร GIT Master Class ซึ่งเป็นหลักสูตรออนไลน์เน้นการถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากกูรูผู้เชี่ยวชาญโดยตรง โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงหลักสูตรละ 599 บาทเท่านั้น ซึ่งสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.git.or.th ได้.-สำนักข่าวไทย