แอตแลนตา 11 ก.ย.- เว็บไซต์ซีเอ็นเอ็น (CNN) นำบทเรียนที่เกิดกับผู้รอดชีวิตจากเหตุวินาศกรรม 11 กันยายน 2544 มาเป็นแนวทางเยียวยาแผลใจให้แก่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19
คอลัมน์สุขภาพของซีเอ็นเอ็นระบุว่า ความรู้สึกที่เกิดขึ้นหลังการสูญเสียร้ายแรงคือ เจ็บปวด ท่วมท้น ว้าวุ่นใจ ผู้ผ่านพ้นเหตุการณ์ร้ายแรงหลายคนอาจรู้สึกว่าญาติมิตรไม่ให้กำลังใจอย่างที่หวัง การเยียวยาแผลใจหลังประสบเหตุร้ายแรงที่แตกต่างกันอาจต้องใช้วิธีการแตกต่างกัน ผู้รอดชีวิตจากเหตุตึกแฝดถล่มในเหตุก่อการร้าย 11 กันยายนใช้วิธีเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปแม้ยังมีความฝังใจ แต่ผู้ป่วยหรือหายป่วยจากโรคโควิด-19 ถูกความสิ้นหวัง ความไม่ไว้ใจ และความกลัวครอบงำจิตใจอย่างเงียบ ๆ การต้องแยกตัวจากสังคมเป็นเวลานานอาจน่ากลัวไม่น้อยไปกว่าเชื้อไวรัสโคโรนา
ผู้ป่วยโควิด-19 ถูกกล่าวโทษและปฏิเสธจากสังคมในระดับเดียวกับที่ผู้ติดเชื้อไวรัสเอสไอวีแลผู้ป่วยเอดส์ได้รับในช่วงที่เอดส์ระบาด สตรีที่หายป่วยจากโควิดคนหนึ่งเผยว่า ไม่เคยรู้สึกถูกทอดทิ้งแบบนี้มาก่อน เธอตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนาช่วงปลายเดือนมีนาคมและต้องตรวจวินิจฉัยหลอดเลือดฉุกเฉินในเดือนพฤษภาคมตามคำสั่งแพทย์ แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลไม่ทำนัดตรวจให้จนกว่าเธอจะมีผลตรวจเป็นลบ
คอลัมน์สุขภาพซีเอ็นเอ็นมีคำแนะนำ 3 ประการแก่ผู้ป่วยโควิด-19 ประการแรก ระบุสิ่งที่สามารถทำได้เอง 3 อย่างแล้วลงมือทำเพื่อเรียกขวัญกำลังใจกลับมา ประการที่สอง ใช้การสื่อสารรักษาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดในระหว่างที่รักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อไม่ให้รู้สึกเคว้งคว้าง ประการสุดท้าย มีความหวังกับวิธีเยียวยาแผลใจแบบใหม่ ๆ ที่ใช้ทั้งการรักษาทางร่างกายและทางจิตใจ พร้อมกับปิดท้ายว่า แผลใจไม่ใช่โทษประหารชีวิต ขอเพียงไม่สิ้นหวังและขอความช่วยเหลือก็จะผ่านพ้นไปได้.- สำนักข่าวไทย