กรุงเทพฯ 9 ส.ค. – หมูแพงต่อเนื่อง พ่อค้าแม่ค้าวอนรัฐเร่งดูแลราคาหน้าฟาร์ม เพิ่มกำลังการผลิต กำหนดสัดส่วนการส่งออกชัดเจน ด้านกล้วยราคายังสูงเหตุผลผลิตน้อย
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยตลาดสดย่านห้วยขวางว่า วันนี้ยังมีประชาชนมาเลือกซื้อสินค้าทั้งผักสด ไข่ไก่ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล เพื่อไปปรุงอาหารกันอย่างคึกคัก
ด้านบรรดาพ่อค้าแม่ค้าร้านอาหารต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องแบกรับต้นทุนมากขึ้นหลังจากหมูแพง และหลายคนที่เป็นเจ้าเล็ก ๆ ผลิตกุนเชียง หมูหยอง ลูกชิ้น หมูยอ ต้องขึ้นราคา หรือหยุดผลิตสินค้าชั่วคราว เพราะแบกต้นทุนไม่ไหว
ทั้งนี้ ภายหลังการสำรวจราคาหมูพบว่า ตั้งแต่ช่วงคลายล็อกดาวน์เป็นต้นมา ราคาเนื้อหมูปรับตัวขึ้นตลอด เฉลี่ย 5 – 7 บาทต่อสัปดาห์ โดยล่าสุดหมูเนื้อแดงกิโลกรัมละ 170 บาท คอหมูแล่เป็นชิ้น กิโลกรัมละ 200-220 บาท หมูสะโพก กิโลกรัมละ 160 บาท ซี่โครงหมูกิโลกรัมละ 150 บาท ขาหมูกิโลกรัมละ 80 บาท เครื่องในหมูกิโลกรัมละ 150 บาท
นางนงค์นุช ถาวระ แม่ค้าแผงหมูตลาดห้วงขวาง กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านต้องการหมูมาก เช่น กัมพูชา เวียดนาม เป็นต้น และตอนนี้ไม่เพียงพอต่อการส่งออก ซึ่งการส่งออกไปตลาดต่างประเทศได้ราคาดีกว่าการขายในประเทศ ซึ่งแม่ค้าพ่อค้าต้องซื้อราคาใกล้เคียงกับต่างประเทศซื้อ หากไม่ซื้อยี่ปั๊วก็จะส่งออกหมด ประกอบกับมียี่ปั๊วที่ไปรับหมูเป็นจากหน้าฟาร์มไปชำแหละขายส่งต่อให้เขียงหมู โดยมีการบวกราคาเพิ่มด้วย
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่ายอดขายลดลงมากกว่า 20% แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ต้องอธิบายให้ลูกค้าเข้าใจ อาศัยความเชื่อใจและลูกค้าประจำเป็นหลัก ขณะเดียวกันต้องรัดเข็มขัดประหยัดค่าใช้จ่ายทุกทาง เพื่อให้อยู่รอด อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ โดยการควบคุมราคาหน้าฟาร์มให้อยู่ในระดับที่ลูกค้าสามารถหาซื้อกินได้และมีกำลังซื้อ และเข้ามาช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าในตลาดด้วย รวมทั้งเพิ่มกำลังการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการในประเทศ หากจะส่งออกด้วยก็กำหนดสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกให้ชัดเจนโดยเฉพาะไม่ข้องเกี่ยวกับหมูเพื่อการบริโภคในประเทศ
นางกาญจนา พรหมจันทร์ แม่ค้าแผงหมู เล่าว่า ราคาหมูแพงต่อเนื่องมานับเดือน ราคาส่งหมูเนื้อแดงจากหน้าฟาร์มอยู่ที่ 105 บาท สูงที่สุดตั้งแต่ขายหมู เทียบกับช่วงก่อนคลายล็อกดาวน์ต้นทุนยังถูกกว่านี้และขายดีกว่าหลังคลายล็อกดาวน์ กระทบยอดขายลดลงเกือบ 30% แม้จะขายตี 3 ถึงบ่าย 2 แต่ยอดขายก็ไม่เพิ่มขึ้น เพราะคนซื้อน้อยลง
นายสมเกียรติ เอกโท พ่อค้าร้านต้มเลือดหมูย่านห้วยขวาง เล่าว่า ราคาหมูสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น จากเดิมเคยซื้อหมูวันละประมาณ 4,000 บาท ต้องจ่ายเพิ่มเป็น 5,000 กว่าบาท ต้นทุนสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับราคาขายหน้าร้านได้ ต้องขายราคาเดิม เพราะเกรงว่าจะกระทบลูกค้า อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือดูแลราคาเนื้อหมูในตลาดสดบ้าง ไม่ใช่เฉพาะในห้างสรรพสินค้าใหญ่ ๆ เท่านั้น ขณะที่ร้านธงฟ้าก็ไม่ทั่วถึงประชาชนทุกพื้นที่
ขณะที่พ่อค้าแผงค้าผลไม้ย่านห้วยขวาง ระบุว่า สภาพอากาศที่แปรปรวนในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรและสวนผลไม้ ซึ่งบางพื้นที่ผลไม้ติดดอกออกผลช้ากว่ากำหนด และผลผลิตออกน้อยไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ราคาผลไม้แพงและขาดตลาดบ้าง ซึ่งกล้วยน้ำว้า ราคาส่งอยู่ที่หวีละ 27 – 28 บาท ขาย 30 บาท กล้วยหอม ราคาส่งหวีละ 70 – 80 บาท ขาย 100 บาท ซึ่งไม่สามารถขึ้นราคาขายได้ เพราะเกรงว่าจะกระทบลูกค้า เนื่องจากค่าครองชีพปัจจุบันสูงอยู่แล้ว หากขึ้นราคาอีกกลัวว่าลูกค้าจะหาย โดยยอมรับว่ายอดขายลดลง 30 % เทียบกับช่วงก่อนโควิด -19 . – สำนักข่าวไทย