สธ.29ก.ค.-สธ.เข้มมาตรการกักตัวในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) กลุ่มผู้ป่วยชาวไทยและต่างชาติรวมผู้ติดตาม ในกลุ่มรักษาต่อเนื่อง การรักษาศักยภาพสูงและมีนัดหมาย ไม่ใช่ผู้ป่วยโควิด-19 เริ่ม 3 ประเทศเสี่ยงต่ำ “จีน-เมียนมา-กัมพูชา”
วันนี้ (29ก.ค.)ที่ศูนย์ปฏิบัติการด้านข่าวโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าวว่าศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีโรคติดเชื้อโควิด 19 ได้ประกาศให้มีสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) สำหรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติรวมผู้ติดตามที่เดินทางกลับเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยเป็นการรักษาในสถานพยาบาลภาครัฐและภาคเอกชนที่กำหนด และมีการนัดหมายไว้ล่วงหน้าตามกลุ่มโรค/ อาการ/ หัตถการที่นัดหมาย เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วันซึ่งโรงพยาบาลจะต้องจัดสถานที่เฉพาะไม่ปะปนกับผู้ป่วยอื่น มีห้องพักกักตัวญาติ 14 วันเช่นเดียวกัน และมีระบบการป้องกันไม่ให้ออกนอกสถานที่กักตัว เพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด-19
โดยขณะนี้ ได้ประกาศรายชื่อและออกใบประกาศรับรองสถานพยาบาลที่ร่วมเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก(Alternative Hospital Quarantine) แล้ว 124 แห่ง เป็นโรงพยาบาล 98 แห่ง และคลินิก 26 แห่ง และได้เปิดรับผู้ป่วยชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามารับการรักษาพยาบาลแล้ว โดยอนุญาตเฉพาะผู้ป่วยที่เดินทางมาจากกลุ่มประเทศสีเขียว ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่ จีน เมียนมาและกัมพูชา เฉพาะการรักษาพยาบาลและบริการเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่มีศักยภาพสูง (Magnet) อาทิ โรคตา โรคระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ภาวะมีบุตรยาก ศัลยกรรมเสริมความงาม เป็นต้น ซึ่งเป็นการรักษาโรคตามกลุ่มเป้าหมายที่ไม่เกี่ยวข้องกับกรณีการรักษาโรคโควิด-19 สำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติมีผู้ติดตามได้ไม่เกิน 3 คน
ทั้งนี้ ขอย้ำว่ากระทรวงสาธารณสุขมีกลไกควบคุมกำกับดูแลโรงพยาบาลทางเลือกอย่างเข้มงวด ผู้ป่วยและญาติที่เข้ารับการรักษาพยาบาลจะต้องมีหนังสือรับรองผลการตรวจโควิด 19 ก่อนเข้าประเทศไม่เกิน 72 ชั่วโมง และเมื่อเข้ารักษาในโรงพยาบาลจะได้รับการตรวจซ้ำอีก 3 ครั้ง คือ วันแรก, วันที่ 5-7 และในวันที่ 14 ซึ่งหากผลการตรวจไม่พบเชื้อ จะอนุญาตให้ผู้ป่วยและผู้ติดตามออกจากโรงพยาบาลได้ พร้อมหนังสือรับรองการกักกันตัวครบ 14 วัน ที่อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ออกให้ และจะสามารถไปท่องเที่ยวตามแผนการเดินทางที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศ ทั้งธุรกิจด้านการแพทย์และการท่องเที่ยวของประเทศตามนโยบายการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub)
ด้าน นพ.ไพบูลย์ เอกแสงศรี เลขาธิการสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ประเทศไทยมีโรงพยาบาลเอกชน 382 แห่ง สมัครเข้าร่วมเป็นโรงพยาบาลทางเลือก 98 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่ให้บริการชาวต่างชาติ สร้างรายได้เข้าประเทศ ขณะนี้มีผู้ป่วยที่ต้องรักษาต่อเนื่อง และผู้ป่วยตามนัดหมายเริ่มเข้ามารักษาแล้ว ไม่ใช่ผู้ป่วยโรคโควิด 19 โดยโรงพยาบาลมีการจัดระบบรองรับตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้มั่นใจว่ามีการป้องกันควบคุมโรคไม่เข้ามาแพร่ในประเทศไทย .-สำนักข่าวไทย