กรุงเทพฯ 1 ก.ค. – “มนัญญา” เดินหน้าเปิดทางเกษตรกรใช้สารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เร่งกรมวิชาการเกษตรปรับจากบัญชีวัตุอันตรายชนิดที่ 2 เป็นชนิดที่ 1 ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตรายภายในเดือนกรกฎาคม ให้ครอบครองได้โดยแจ้งต่อกรมวิชาการเกษตร แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนการผลิต หวังใช้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ ดันไทยเป็นครัวโลก
นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทำรายละเอียด เพื่อกำหนดแนวทางปรับสารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพ ซึ่งสกัดจากธรรมชาติในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 (วอ.2) มาอยู่ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 (วอ.1) ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ซึ่งจะส่งผลให้เกษตรกรที่ประสงค์ใช้แจ้งกรมวิชาการเกษตรเพื่อทราบเท่านั้น แต่ไม่ต้องขึ้นทะเบียนการผลิต เพราะไม่ต้องการให้พึ่งพิงกับสารเคมีกำจัดแมลงนำเข้าเพียงทางเดียว แต่หันกลับมาใช้ภูมิปัญญาไทยในการทำเกษตร เพื่อผลักดันให้ไทยเป็นครัวของโลก
นางสาวมนัญญา กล่าวว่า การกำหนดให้สารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพเป็น วอ.1 จะเป็นการเปิดทางเบื้องต้น เพื่อให้เกษตรกรและคนรุ่นใหม่คิดค้นหรือพัฒนาสูตรของสารกำจัดแมลง เพื่อใช้ในแปลงเกษตรให้มีหลากชนิดขึ้น โดยจะลดความกังวลของเกษตรกรต้องการผลิตสารกำจัดแมลงเพื่อใช้เองว่าจะผิดกฎหมาย แต่หากต้องการผลิตเพื่อการค้าจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งการดำเนินการตามหลักเกณฑ์วิธีการ วอ. 2 ทั้งนี้ กำชับกรมวิชาการเกษตรกำหนดมาตรการให้เสร็จใน 2 สัปดาห์ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนได้ภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ทั้งนี้ ในเอกสารเผยแพร่ของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าวัตถุอันตรายชนิดที่ 1 นั้น ไม่มีวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ ส่วนวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 คือ วัตถุอันตรายที่การผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครองจะต้องขึ้นทะเบียนและแจ้งดำเนินการต่อกรมวิชาการเกษตรตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด ประกอบด้วย สารชีวภัณฑ์รักษาโรคพืช เช่น บาซิลลัส ทูริงเยนซิส สารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง เช่น ไวต์ออยล์ รีไฟน์ ปิโตรเลียมออยล์ ส่วนสารชีวภาพ คือ ผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากพืชจนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของสารสำคัญหรือจุลชีพที่ทำขึ้น เพื่อใช้ในการป้องกัน กำจัด ทำลาย ควบคุมแมลงหรือสัตว์ที่เป็นศัตรูพืช โรคพืช วัชพืช และการควบคุมการเจริญเติบโตของพืช
“ประเทศไทยมีสมุนไพรกำจัดแมลงหรือวัชพืชหลายชนิด ใช้มาก คือ สะเดา แต่สะเดาถูกจัดไว้ในบัญชีวัตถุอันตรายชนิดที่ 2 หรือ วอ.2 ทางวิชาการอาจจะท้วงติงเรื่องความเข้มข้นหรือยกอุปสรรคต่าง ๆ ทำให้การจะใช้ยากลำบาก อีกทั้งหากเกษตรกรจะผลิตใช้ต้องแจ้งขึ้นทะเบียนต่อกรมวิชาการเกษตร ดังนั้น คนไทยมีภูมิปัญญาไทยอยู่แล้ว หน่วยราชการมีหน้าที่อำนวยความสะดวกในการนำมาใช้ อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการใช้ประโยชน์สมุนไพรด้วย สำหรับอัตราส่วนการใช้สารชีวภัณฑ์และสารชีวภาพนั้น ทางฝ่ายวิชาการต้องวิจัยเพื่อกำหนด แต่ไม่ใช่ปิดกั้นหรือห้ามผลิต ทำให้เกษตรกรไทยต้องพึ่งพาต่างชาติ ในอนาคตอาจมีสารสกัดจากพืชชนิดเยี่ยมก็เป็นได้ ลดการเสียดุลทางการค้าและลดสารเคมีตกค้างในร่างกาย และจะเป็นแนวทางส่งเสริมให้ไทยของไทยเป็นครัวโลกอย่างสมบูรณ์” นางสาวมนัญญา กล่าว.-สำนักข่าวไทย