กรุงเทพฯ 25 มิ.ย. – กรมเจ้าท่าลงนาม สวทช.ผนึกองค์กรเอกชน พัฒนาและผลิตเรือท่องเที่ยวอลูมิเนียม- พลังงานไฟฟ้าลำแรกไทย ตั้งเป้าเปิดตัวเรือต้นแบบ 5 สิงหาคมนี้ หวังผู้ประกอบการเรือด่วนเจ้าพระยา- คลองแสนแสบ พัฒนานำมาให้บริการ ดีต่อสิ่งแวดล้อมและลดต้นทุนระยะยาว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (25 มิ.ย.) 4 หน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน ได้แก่ กรมเจ้าท่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บ้านปูเน็กซ์ บริษัทลูกของบริษัท บ้านปูจำกัด(มหาชน) และบริษัท สกุลชื่ อินโนเวชั่น จำกัด ร่วมมือลงนามบันทึกข้อตกลงด้านการพัฒนาการออกแบบ การผลิต และมาตรฐาน สำหรับเรือไฟฟ้าที่มีคุณภาพ เพื่อความปลอดภัยในการขนส่งทางน้ำและส่งเสริมการพาณิชยนาวี เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตเรือไฟฟ้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งระดับประเทศ และนานาชาติ นำไปสู่การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้าของไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งไม่เพียงช่วยประหยัดพลังงาน ยังช่วยลดมลพิษทางน้ำ และทางอากาศระยะยาว อีกทั้งมีส่วนช่วยคืนความยั่งยืน สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในชุมชนและนักท่องเที่ยว
นายวิทยา ยาม่วง อธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า กรมเจ้าท่าตั้งเป้าหมายที่จะเปิดตัวเรือไฟฟ้าต้นแบบ 1 ลำ ในวันที่ 5 สิงหาคมปีนี้ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันสถาปนากรมเจ้าท่า โดยใช้อลูมิเนียมเป็นวัสดุหลักมีความคืบหน้ามาก ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตั้งระบบไฟฟ้าให้ใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ โดยข้อดีหาวัสดุง่าย ใช้เวลาเพียง 2 เดือน ขณะที่การประกอบเรือไม้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี รวมทั้งมีความคงทนในระยะ 20 ปี ทำให้ต้นทุนบำรุงรักษาต่ำมาก
ส่วนการนำพลังงานไฟฟ้ามาติดตั้งกับเรือนั้น แม้ขณะนี้แบตเตอรี่จะมีราคาสูง แต่เชื่อว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้าราคาจะลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเรืออลูมิเนียมพลังงานไฟฟ้าลำนึงจะใช้ต้นทุนประมาณ 40 ล้านบาท และเรือ 1 ลำ จะสามารถจุผู้โดยสารได้ประมาณ 100 คน ใกล้เคียงกับเรือที่ใช้วัสดุไม้ หลังจากเรือต้นแบบเสร็จหากผู้ประกอบการเรือโดยสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑลไม่ว่าจะเป็นเรือด่วนเจ้าพระยา หรือเรือด่วนคลองแสนแสบก็สามารถว่าจ้างผลิต เพื่อนำเรืออลูมิเนียมไฟฟ้ามาให้บริการแก่ประชาชนได้ โดยย้ำว่าความร่วมมือการพัฒนาการผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าลำแรกของไทยครั้งนี้ จึงเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานะบบการขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวีของไทย
นายจุลเทพ ขจรไชยกูล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า สวทช.ได้ดำเนินงานกิจกรรมด้านยานพาหนะไฟฟ้ามากกว่า 10 ปี โดยมีการพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่พร้อมระบบส่วนควบ ระบบระบายความร้อน เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) เพื่อรับผิดชอบงานด้านนี้โดยตรง ขณะเดียวกัน สวทช.ยังเดินหน้าวิจัยและพัฒนามอเตอร์พร้อมระบบควบคุม โดยมองหาเทคโนโลยีมอเตอร์แบบใหม่ ๆ ที่เหมาะสำหรับการผลิตในประเทศ ระบบ OT ระบบสมาร์ทรวมถึงการออกแบบ และวิเคราะห์โครงสร้างต่างๆ สำหรับยานพาหนะไฟฟที่ต้องมีน้ำหนักเบา เพื่อลดการใช้พลังงาน และมีความปลอดภัยสูง ซึ่ง สวทช. มีทีมวิจัย และบริการที่มีประสบการณ์ในการพัฒนามาตรฐาน ทดสอบ และการรับรองผลิตภัณฑ์ ทั้งยังมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคอุตสาหกรรมมากมาย อาทิ การออกมาตรฐานต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับยานพาหนะไฟฟ้า และเทคโนโลยี OT เช่น มาตรฐานด้านเต้ารับเต้าเสียบ สถานีอัดประจุต่าง ๆ เป็นตันซึ่ง สวทช. จะนำจุดแข็งเหล่านี้มาร่วมส่งเสริมการทำงานภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเรือไฟฟ้ในไทยได้อย่างยั่งยืน
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และบริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด กล่าวว่า”บ้านปูเน็กซ์ บริษัทลูกของบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการพลังงานสะอาดชั้นนำในภูมิภาคเอเชียแปชิฟิกสานต่อกลยุทร์ Greener & Smarter ของกลุ่มบ้านปู่ฯ อย่างต่อเนื่อง นำนวัตกรรมความรู้ความเชี่ยวชาญมาสนับสนุนการพัฒนาและผลิตเรือท่องเที่ยวไฟฟ้า (e-Ferry) ลำแรกของประเทศไทย ในด้านงบประมาณการพัฒนาเรือ และนำโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีพลังงานที่หลากหลาย ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มาใช้ในการพัฒนาการผลิต ได้แก่ นำแบตเตอรี่ลิเรียมไอออน (LiB) ศักยภาพสูง ซึ่งถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญ เพื่อใช้กับเรือท่องเที่ยวไฟฟ้าโดยเฉพาะ และจัดหาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเรือไฟฟ้าเหล่านี้ด้วย.-สำนักข่าวไทย