สธ. 24 มิ.ย.-“อนุทิน” แจงมติคณะกรรมการโรคติดต่อ ผ่อนผันการเดินทางเข้าไทย ได้แค่คน 3 กลุ่ม ทูต นักธุรกิจ คนไทยต้องการกลับบ้าน คนต่างชาติป่วยต้องการรักษาในไทย แต่ยังไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเข้าไทย ส่วนการกักตัวดูตามความเหมาะสม เข้าไทยอยู่ยาวต้องกักใน state quarantine ยกเว้นเข้าไทยไม่นานไม่เกิน 14 วัน อาจไม่ต้องกัก แต่ต้องกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสม เข้าใจที่คณะแพทย์ห่วงหากไม่มีมาตรการกักตัว แต่ย้ำ ต้องทำเพื่อเศรษฐกิจขับเคลื่อน
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่าง ระบบการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรณีผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558. โดยเป็นกรอบแนวทางปฏิบัติเบื้องต้นอนุญาตให้การเดินทางเข้าประเทศ มี 3 กลุ่ม. 1 กลุ่มคณะพูต กงศุล องค์กรระหว่างประเทศ. ผู้ขนส่งสินค้า หรือคนต่างชาติที่มีใบอนุญาตทำงาน 2 คนไทยที่ต้องการเดินทางกลับเข้าประเทศ 3 คนต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้าไทยมาเพื่อการรักษารักษาพยาบาลโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่โควิด ทั้งนี้ ยังไม่อนุญาตการเดินทางเข้าไทย ในกลุ่มของนักท่องเที่ยว เพียงแต่เป็นการผ่อนผันเพื่อเศรษฐกิจจะได้ขับเคลื่อน
ส่วนเรื่องการกักตัว 14 วันหรือไม่นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ในกลุ่มคนไทยที่ต้องเข้ามาพำนักในไทยเป็นเวลานาน หรือ กลุ่มคนต่างชาติที่ต้องการทำงานในไทยเป็นเวลานาน กลุ่มคนเหล่านี้ต้องมีการกักตัวดูอาการเพื่อความปลอดภัย ใน state quarantine แต่กลุ่มคนที่เดินทางเข้ามาเจรจาธุรกิจในไทย ไม่เกิน 14 วัน ต้องมีการหารือถึงรายละเอียดอีกครั้ง หากไม่มีการกักตัว ว่าต้องอยู่ในไทยได้กี่วัน เพราะทุกอย่างต้องคำนึงถึงความเหมาะสมและปลอดภัย ตรรกะต้องสมเหตุสมผล และในส่วนของทราเวล บับเบิ้ล นั้น ยังอยู่ระหว่างการเจรจาจับคู่ประเทศ. และต้องเป็นการลงนามความมือหรือเอ็มโอยูที่เหมาะสมต่อไป เพราะข้อตกลงระหว่าง 2 ประเทศต้องเหมือนกัน แต่ที่แน่ชัดคือ เพื่อธุรกิจ ให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนไม่ใช่เรื่องการท่องเที่ยว. และที่ประชุมศบค. จะมีการหารืออีกเรื่องนี้ในวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายนนี้
ส่วนที่กลุ่มโรงเรียนแพทย์ ทั้งศิริราช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คัดค้าน เรื่องหากไม่มีการกักตัวกลุ่มผู้ที่เข้ามาเจรจาทางธุรกิจเลยนั้น นายอนุทิน กล่าวว่า พร้อมรับฟังความคิดเห็นของโรงเรียนแพทย์ แต่กระทรวงสาธารณสุข ต้องตัดสินใจบนบรรทัดฐานของการอยู่รอด เพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ต้องการให้ทุกคนสามารถดำรงอยู่ได้ ส่วนเรื่องข้อถกเถียงเรื่องการออกกฎบังคับสวมหน้ากากอนามัยนั้น อยากให้เป็นเรื่องของการตระหนัก เพราะเป็นการป้องกันตนเอง และผู้อื่นพื้นฐาน ไม่อยากให้มีการบังคับเพราะเกรงเป็นการละเมิดสิทธิ์ แต่หากผู้ว่าราชการจังหวัด ในจังหวัดไหนเห็นควรก็สามารถทำได้ .-สำนักข่าวไทย