Thanakorn Sinsanoi Thai transgender jailed in Malaysia

กลุ่มในมาเลเซียหาทางช่วยสตรีข้ามเพศไทยติดคุกทั้งที่เป็นอัมพาต

กัวลาลัมเปอร์ 17 พ.ย.- กลุ่มต่อต้านการลงโทษประหารชีวิตในมาเลเซียกำลังเชิญชวนประชาชนร่วมกันลงชื่อขอให้สุลต่านรัฐสลังงอร์ของมาเลเซียพระราชทานอภัยโทษให้แก่ผู้ต้องขังสตรีข้ามเพศชาวไทยที่เป็นอัมพาตทั้งตัว และต้องโทษประหารชีวิตในข้อหาค้ายาเสพติด เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ในฮ่องกงรายงานว่า นาย Thanakorn Sinsanoi วัย 33 ปี ต้องโทษจำคุกตั้งแต่ปี 2556 หลังจากเดินทางเข้ามาเลเซียโดยมีเมตแอมเฟตามีนน้ำหนัก 1.3 กิโลกรัมซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าสัมภาระ เธอให้การว่าเพื่อนเป็นคนใส่ไว้ในกระเป๋า ต่อมาในปี 2566 โทษประหารชีวิตถูกเปลี่ยนเป็นโทษจำคุก 30 ปี ตามที่มาเลเซียได้ยกเลิกการลงโทษประหารชีวิต เธอติดเชื้อวัณโรคในเรือนจำ 2 ครั้ง จนกลายเป็นอัมพาตทั้งตัวตั้งแต่คอลงไป และต้องขึ้นศาลในสภาพที่ถูกเข็นไปบนเตียงโรงพยาบาล เรื่องราวของเธอปลุกกระแสเรียกร้องในสังคมมาเลเซียที่เปรียบเทียบนักโทษพิการที่ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำกับอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซักที่คณะกรรมการอภัยโทษที่มีสมเด็จพระราชาธิบดีทรงเป็นประธานได้ลดโทษกึ่งหนึ่งให้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้จากจำคุก 12 ปีเหลือ 6 ปี ในคดีทุจริต กลุ่ม Hayat ได้เผยแพร่แบบฟอร์มเชิญชวนให้สาธารณชนเข้าไปลงชื่อเพื่อถวายต่อสุลต่านซาราฟุดดิน อิดริส ชาห์ แห่งรัฐสลังงอร์ให้พระราชทานอภัยโทษให้แก่เธอ เนื่องจากเธอกระทำความผิดในรัฐนี้ คำร้องย้ำว่า การที่เธอติดเชื้อวัณโรคถึง 2 ครั้งขณะอยู่ในเรือนจำจนกลายเป็นอัมพาต ทำให้เธอไม่สามารถเป็นภัยต่อสังคมได้อีกต่อไป และควรมีโอกาสได้มีชีวิตโดยได้รับการดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสม.-814.-สำนักข่าวไทย

สตรีข้ามเพศได้ครองมงกุฎ “มิส โปรตุเกส” เป็นครั้งแรก

สตรีข้ามเพศได้ครองมงกุฎนางงามโปรตุเกสเป็นครั้งแรกและจะเป็นตัวแทนของโปรตุเกสในการประกวดสาวงามในเวทีมิสยูนิเวิร์ส ที่จะจัดขึ้นที่ประเทศเอลซัลวาดอร์

ศาลฎีกาญี่ปุ่นให้สตรีข้ามเพศชนะคดีเข้าห้องน้ำหญิง

โตเกียว 11 ก.ค.- ศาลฎีกาญี่ปุ่นมีคำตัดสินในวันนี้ให้ข้าราชการที่เป็นสตรีข้ามเพศชนะในคดีฟ้องร้องรัฐบาลเรื่องที่เธอถูกห้ามใช้ห้องน้ำหญิงในที่ทำงาน ศาลฏีกาญี่ปุ่นระบุในคำตัดสินว่า การห้ามโจทก์ใช้ห้องน้ำที่อยู่ใกล้สถานที่ทำงาน และบังคับให้เธอใช้ห้องน้ำที่อยู่ถัดไป 2 ชั้น เป็นเรื่องที่ไร้เหตุผลอย่างยิ่ง และเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานคนอื่น ๆ มากเกินไป โดยละเลยอย่างไม่เป็นธรรมว่าโจทก์อาจจะเสียเปรียบอย่างไร นับเป็นครั้งแรกที่ศาลฎีกาญี่ปุ่นมีคำตัดสินเรื่องสภาพการทำงานของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศหรือแอลจีบีทีคิว (LGBTQ) เป็นรายบุคคล ผู้เชี่ยวชาญมองว่า คำตัดสินนี้อาจเปลี่ยนทัศนะที่คนในสังคมมีต่อพื้นที่เฉพาะของสตรี โจทก์ซึ่งเป็นสตรีข้ามเพศวัย 50 ปีเศษ ถูกนายจ้างคือกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าบอกให้ใช้ห้องน้ำสตรีที่อยู่ถัดไป 2 ชั้นจากชั้นที่เธอทำงาน เธอแย้งว่า การห้ามเธอใช้ห้องน้ำสตรีที่อยู่ใกล้ที่สุดได้ทำลายศักดิ์ศรีของเธออย่างร้ายแรงที่สุด และละเมิดกฎหมายคุ้มครองพนักงานของรัฐไม่ให้ได้รับความเสียหายหรือสูญเสียในที่ทำงาน พร้อมกับแย้งด้วยว่า พนักงานสตรีคนอื่น ๆ ไม่มีใครแสดงความไม่พอใจเรื่องใช้ห้องน้ำร่วมกับเธอ ปี 2562 ศาลแขวงโตเกียวมีคำพิพากษายืนตามคำร้องของเธอ ว่า กระทรวงได้จำกัดสิทธิทางกฎหมายที่สำคัญเนื่องจากอัตลักษณ์ทางเพศของโจทก์ แต่ศาลสูงกลับคำพิพากษาในปี 2564  ว่า รัฐมีหน้าที่ที่ต้องคำนึงถึงความอายและกังวลใจของผู้อื่นที่ใช้ห้องน้ำร่วมกับโจทก์ จนกระทั่งศาลฎีกามีคำตัดสินในวันนี้ให้เธอชนะคดี.-สำนักข่าวไทย

...