Xi meets Biden at APEC Summit Peru

“สี” บอก “ไบเดน” สัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพสำคัญต่อมนุษยชาติ

ลิมา 17 พ.ย.- ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนกล่าวกับประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐว่า ความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศที่มีเสถียรภาพไม่เพียงสำคัญต่อประชาชนของทั้ง 2 ประเทศ แต่ยังสำคัญต่ออนาคตของมนุษยชาติ สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี (CCTV) ของทางการจีนรายงานว่า ประธานาธิบดีสีกล่าวในการพบหารือกับประธานาธิบดีไบเดนและคณะเมื่อวันเสาร์ตามเวลากรุงลิมาของเปรู นอกรอบการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกหรือเอเปค ครั้งที่ 31 ว่า ยินดีที่ได้พบกับประธานาธิบดีไบเดนอีกครั้ง แม้ว่าความสัมพันธ์ของ 2 ประเทศลุ่ม ๆ ดอน ๆ ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา แต่ก็มีการเจรจาและความร่วมมือที่เป็นผล ความสัมพันธ์จึงถือว่ามีเสถียรภาพในภาพรวม ประธานาธิบดีสีกล่าวว่า ทิศทางความสัมพันธ์ของจีนและสหรัฐสะท้อนถึงประสบการณ์และความปรารถนาของทั้ง 2 ฝ่ายตลอดความสัมพันธ์ทางการทูตในช่วง 45 ปีที่ผ่านมาว่า เมื่อใดก็ตามที่แต่ละฝ่ายปฏิบัติต่อกันฉันมิตรและหุ้นส่วน หาจุดร่วมสงวนจุดต่าง  ความสัมพันธ์ก็จะก้าวหน้าอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อใดก็ตามที่ปฏิบัติต่อกันเยี่ยงศัตรูหรือคู่แข่ง เดินหน้าแข่งขันกันอย่างประสงค์ร้ายและทำร้ายกัน  ความสัมพันธ์ก็จะวุ่นวายหรือถอยหลัง ผู้นำจีนกล่าวว่า เขาเชื่อมาโดยตลอดว่า การที่ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐซึ่งเป็นความสัมพันธ์ทวิภาคีที่สำคัญที่สุดในโลก มีเสถียรภาพ ไม่เพียงสำคัญต่อผลประโยชน์ของประชาชนทั้ง 2 ประเทศ แต่ยังสำคัญต่ออนาคตและชะตากรรมของมนุษยชาติทั้งปวงด้วย แม้สหรัฐเพิ่งเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป้าหมายของจีนที่ต้องการมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืนก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง จีนพร้อมทำงานกับรัฐบาลสหรัฐที่จะคงไว้ซึ่งการเจรจา […]

จีนและเกาหลีเหนือรำลึกครบรอบความสัมพันธ์ 75 ปี

สำนักข่าวกลางเกาหลี หรือ เคซีเอ็นเอ ของเกาหลีเหนือรายงานว่า ผู้นำจีนและเกาหลีเหนือต่างให้คำมั่นแก่กันและกันว่าจะส่งเสริมความร่วมมือทวิภาคีในวาระครบรอบปีที่ 75

ผู้นำเกาหลีเหนือและรัสเซียให้คำมั่นกระชับความสัมพันธ์

นายคิม จอง อึน ผู้นำสูงสุดของเกาหลีเหนือ ยืนยันคำมั่นสัญญาในการกระชับความร่วมมือกับรัสเซียในสารที่เขาส่งไปถึงประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ในขณะที่รัฐบาลเกาหลีเหนือรำลึกวาระครบรอบการได้รับอิสรภาพจากการถูกปกครองในฐานะอาณานิคมของญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมกุ้งฮอนดูรัสหวั่น หลังตัดสัมพันธ์ไต้หวัน

เตกูซิกัลปา 7 เม.ย.- อุตสาหกรรมกุ้งของฮอนดูรัส ประเทศในอเมริกากลางแสดงความกังวล หลังจากรัฐบาลตัดสินใจตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวันที่เป็นตลาดส่งออกกุ้งรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ประธานาธิบดีเซียวมารา กาสโตรของฮอนดูรัสประกาศเมื่อเดือนมีนาคมว่า ได้ตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน เพื่อสถาปนาความสัพมันธ์ทางการทูตกับจีนแทน คนทำงานในอุตสาหกรรมกุ้งวิตกว่า การกระทำดังกล่าวจะกระทบต่อข้อตกลงเขตการค้าเสรีฮอนดูรัส-ไต้หวันปี 2551 ที่มีความสำคัญต่อการยังชีพของพวกเขา นักธุรกิจวัย 46 ปีเผยว่า ไต้หวันเป็นตลาดมูลค่าสูง ยอดส่งออกกุ้งไปไต้หวันมีมูลค่าเกือบ 2 เท่าของยอดส่งออกไปจีน แม้ว่าไต้หวันมีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าจีนถึง 12 เท่า อุตสาหกรรมกุ้งในฮอนดูรัสเฟื่องฟูอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มมีการเลี้ยงในคริสต์ทศวรรษ 1970 เป็นการนำน้ำทะเลจากอ่าวฟอนเซกามาเลี้ยงกุ้งในฟาร์ม ปัจจุบันมี 324 ฟาร์ม ครอบคลุมพื้นที่ 245 ตารางกิโลเมตร จ้างงานคนโดยตรง 23,000 คน แต่จะเพิ่มเป็น 150,000 คนเมื่อรวมคนที่จ้างงานโดยอ้อม การส่งออกกุ้งสร้างรายได้ให้แก่ฮอนดูรัสปีละ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3,411 ล้านบาท) เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 5 รองจากกาแฟ กล้วย น้ำตาล และน้ำมันปาล์ม ปี 2565 ที่ผ่านมาฮอนดูรัสมีรายได้จากการส่งออกสินค้าทั้งหมด 6,100 […]

ผู้นำฟิลิปปินส์ประกาศกระชับสัมพันธ์กับจีน

ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ ประกาศกระชับความสัมพันธ์จีน ในโอกาสที่เยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งแรกตั้งแต่รับตำแหน่งในเดือนมิถุนายน 2565

รมว.ต่างประเทศออสเตรเลียจะเยือนจีนครั้งแรกในรอบ 4 ปี

ซิดนีย์ 19 ธ.ค.- นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียจะเยือนจีนในวันอังคารนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีที่ออสเตรเลียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปเยือนจีน หลังจากความสัมพันธ์ย่ำแย่ลงตั้งแต่ปี 2561 นายกรัฐมนตรีแอนโทนี อัลบาเนซีของออสเตรเลียแถลงว่า นางหว่อง วัย 54 ปี จะเยือนจีนเนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต โดยมีกำหนดพบกับนายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ออสเตรเลียต้องการสร้างความสัมพันธ์ที่มีเสถียรภาพกับจีน จะร่วมมือกับจีนในจุดที่สามารถทำได้ จะแสดงความไม่เห็นด้วยในจุดที่ต้องทำและเป็นไปเพื่อประโยชน์ของประเทศ ออสเตรเลียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศไปเยือนจีนอย่างเป็นทางการครั้งหลังสุดในปี 2561 สมัยรัฐบาลสกอตต์ มอร์ริสัน เพราะหลังจากนั้นความสัมพันธ์ที่เคยดีเยี่ยมได้เสื่อมถอยลงอย่างหนัก เนื่องจากมีข้อขัดแย้งกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่จีนแผ่อิทธิพลในต่างประเทศ ละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ ฮ่องกงและทิเบต ขณะที่จีนไม่พอใจเรื่องที่ออสเตรเลียห้ามหัวเว่ย เทคโนโลยีของจีนเข้าร่วมในบริการ 5 จีของออสเตรเลีย และเรื่องที่ออสเตรเลียเรียกร้องให้สอบสวนหาต้นตอโรคโควิด-19 จีนตอบโต้ด้วยการใช้มาตรการลงโทษสินค้านำเข้าจากออสเตรเลีย และระงับการพบปะของเจ้าหน้าที่ระดับสูง ความสัมพันธ์เริ่มดีขึ้นเมื่อนายกรัฐมนตรีอัลบาเนซีพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนระหว่างการประชุมจี 20 ที่บาหลีในเดือนพฤศจิกายน จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของออสเตรเลีย ขณะที่ออสเตรเลียส่งออกสินค้าสำคัญอย่างแร่ธาตุและโลหะที่ช่วยให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว.-สำนักข่าวไทย

ผู้นำเกาหลีใต้จะปรับสัมพันธ์ญี่ปุ่น-เสนอช่วยเกาหลีเหนือ

โซล 15 ส.ค.- ประธานาธิบดียุน ซอก-ยอลของเกาหลีใต้รับปากจะปรับปรุงความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น และเสนอให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับเกาหลีเหนือ หากเกาหลีเหนือเดินหน้าปลดนิวเคลียร์ ประธานาธิบดียุนปราศรัยที่สนามหญ้าหน้าทำเนียบประธานาธิบดี เนื่องในวันฉลองอิสรภาพ 15 สิงหาคม รำลึกถึงการพ้นจากการเป็นอาณานิคมญี่ปุ่นปี 2453-2488 เมื่อ 77 ปีก่อนว่า ในอดีตชาวเกาหลีต้องปลดโซ่ตรวนให้ตัวเองจากการถูกจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นควบคุมทางการเมืองเพื่อให้มีอิสรภาพอีกครั้ง แต่ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนของเกาหลีเพราะเผชิญภัยคุกคามร่วมกันที่ท้าทายเสรีภาพของพลเมืองโลก สองประเทศต้องมีส่วนร่วมสร้างสันติภาพและความรุ่งเรืองให้แก่ประชาคมโลกด้วยการทำงานร่วมกันทั้งด้านเศรษฐกิจ ความมั่นคง สังคม และวัฒนธรรมบนพื้นฐานของการให้เกียรติกัน เพราะเมื่อความสัมพันธ์เกาหลี-ญี่ปุ่นมุ่งหน้าไปสู่อนาคตร่วมกัน และจัดการภารกิจเรียบร้อยตามค่านิยมสากลร่วมกัน ก็จะช่วยให้แก้ไขปัญหาในอดีตที่ยังคั่งค้างระหว่างสองประเทศได้ เกาหลีและญี่ปุ่นจะต้องปรับปรุงความสัมพันธ์อย่างทันทีและเหมาะสมด้วยการยึดมั่นตามปฏิญญาร่วมคิม แด-จุงและโอบุชิปี 2541 ที่เสนอพิมพ์เขียวอนาคตที่ครอบคลุมให้แก่ความสัมพันธ์ของสองประเทศ ผู้นำเกาหลีใต้ยังได้ใช้โอกาสนี้เปิดเผยรายละเอียดแผนการปรับปรุงเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนเกาหลีเหนือ หากเกาหลีเหนือยุติการพัฒนาโครงการนิวเคลียร์และเดินหน้าเรื่องการปลดนิวเคลียร์อย่างแท้จริง โดยจะดำเนินโครงการอาหารขนาดใหญ่ ให้ความช่วยเหลือด้านการผลิตไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานในการจ่ายกระแสไฟฟ้า ปรับปรุงท่าเรือและท่าอากาศยานเพื่อส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการเกษตร ปรับปรุงโรงพยาบาลและโครงสร้างพื้นฐานทางการแพทย์ ดำเนินโครงการการลงทุนระหว่างประเทศและการสนับสนุนทางการเงิน.-สำนักข่าวไทย

มกุฎราชกุมารซาอุฯ เยือนตุรกีเยียวยาสัมพันธ์

อังการา 22 มิ.ย.- เจ้าชายมุฮัมหมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซิซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียมีกำหนดเสด็จถึงกรุงอังการาในวันนี้ เพื่อเสด็จเยือนตุรกีเป็นครั้งแรกในช่วงที่ทั้งสองประเทศเดินหน้าเยียวยาความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานจากเหตุสังหารผู้สื่อข่าวซาอุดีอาระเบีย เจ้าชายมุฮัมหมัดเสด็จเยือนตุรกีเป็นประเทศสุดท้ายของการตระเวนเยือนตะวันออกกลาง หลังจากเสร็จสิ้นการเยือนอียิปต์และจอร์แดน และมีขึ้นก่อนที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐจะเยือนภูมิภาคนี้ในเดือนหน้า ด้านประธานาธิบดีเรเจพ ทายยิพ แอร์โดอาน ของตุรกีกล่าวถึงการพบหารือกับเจ้าชายว่า จะเน้นเรื่องการยกระดับความสัมพันธ์ทวิภาคีให้สูงยิ่งขึ้นไปอีก เขาเพิ่งไปเยือนซาอุดีอาระเบียเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีเมื่อเดือนเมษายน หลังเกิดเหตุนายจามาล คาชอกจี ผู้สื่อข่าวชาวซาอุดีอาระเบียถูกสังหารในสถานกงสุลซาอุดีอาระเบียในนครอิสตันบูลของตุรกีในปี 2561 ตุรกีเปิดการไต่สวนลับหลังผู้ต้องสงสัยชาวซาอุดีอาระเบีย 26 คนในคดีนี้ แต่ศาลมีคำสั่งเมื่อต้นปีนี้ให้ระงับการไต่สวนและส่งคดีกลับไปยังซาอุดีอาระเบีย เปิดทางให้สองประเทศสานความสัมพันธ์กันอีกครั้ง หน่วยข่าวกรองของสหรัฐระบุว่า มกุฎราชกุมารซาอุดีอาระเบียเป็นผู้อนุมัติให้สังหารหรือจับตัวนายคาชอกจี เจ้าชายปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้อง แต่ระบุว่าเป็นฝีมือของเจ้าหน้าที่ที่ขึ้นตรงกับเขา ขณะที่ผู้นำตุรกีไม่เคยเอ่ยชื่อเจ้าชาย แต่กล่าวว่าเป็นคำสั่งของบุคคลระดับสูงสุดของรัฐบาลซาอุดีอาระเบีย เอพีตั้งข้อสังเกตว่า ตุรกีพยายามปรับปรุงความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในช่วงตุรกีกำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ และหาทางดึงดูดการลงทุนจากประเทศร่ำรวยริมอ่าวเปอร์เซีย นอกจากนี้ยังดำเนินมาตรการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อียิปต์ และอิสราเอลด้วย ขณะที่ซาอุดีอาระเบียพยายามขยายประเทศพันธมิตรให้กว้างขวางขึ้นในช่วงที่ความสัมพันธ์กับสหรัฐตึงเครียด.-สำนักข่าวไทย

รัฐบาลใหม่ออสเตรเลียจะกระชับสัมพันธ์กับอาเซียน

ซิดนีย์ 23 พ.ค.- รัฐบาลใหม่ของออสเตรเลียที่เพิ่งสาบานตนรับตำแหน่งในวันนี้ หลังจากชนะเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันเสาร์จะกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และต้องการทำงานร่วมกับสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน นางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศในรัฐบาลพรรคแรงงานของนายแอนโทนี อัลบานีส นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของออสเตรเลียตอบข้อถามสื่อทางอีเมลว่า ออสเตรเลียจะยกเรื่องพันธกิจใหม่ที่มีต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิกแจ้งต่อที่ประชุมกลุ่มควอด (Quad) กับสหรัฐ ญี่ปุ่นและอินเดียที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นในวันอังคารนี้ ออสเตรเลียตระหนักถึงความสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่เสมอ แม้แต่ละประเทศมีความแตกต่างกันมาก แต่ก็เผชิญความท้าทายร่วมกันหลายเรื่อง จึงต้องร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องระเบียบในภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงไป การฟื้นตัวจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโดของอินโดนีเซียเคยกล่าวต่อรัฐสภาออสเตรเลียไว้ นางหว่องวัย 53 ปี เกิดในมาเลเซีย เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศที่เกิดในต่างประเทศคนแรกของออสเตรเลีย และเคยทำงานกับรัฐบาลพรรคแรงงานหลายชุดที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขณะที่พรรคแรงงานซึ่งกลับมาเป็นรัฐบาลครั้งแรกในรอบ 9 ปี ก็ประกาศแล้วว่า ต้องการทำงานร่วมกับอาเซียน ด้านหนังสือพิมพ์โกลบอลไทมส์ของทางการจีนฉบับวันนี้ชี้ว่า การเข้าร่วมการประชุมกลุ่มควอดที่ญี่ปุ่นจะเป็นบททดสอบว่านายกรัฐมนตรีใหม่ออสเตรเลียจะสามารถหลุดพ้นจากเงาของอดีตนายกรัฐมนตรีสกอตต์ มอร์ริสันที่ใช้ยุทธศาสตร์ต่อต้านจีนหรือไม่ ขณะที่นายริชาร์ด แมคเกรเกอร์ นักวิเคราะห์ของสถาบันโลวีในออสเตรเลียเชื่อว่า นายอัลบานีสคงไม่รื้อนโยบายจีนของรัฐบาลชุดก่อน เพราะกลุ่มควอดเป็นการรวมตัวของ 4 ประเทศที่ดำเนินนโยบายแข็งกร้าวกับจีน.-สำนักข่าวไทย

สหรัฐพาดพิงจีนระหว่างชูนโยบายอินโด-แปซิฟิก

จาการ์ตา 14 ธ.ค.- นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐพาดพิงจีนระหว่างชูยุทธศาสตร์ของสหรัฐที่จะกระชับความสัมพันธ์กับชาติพันธมิตรในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกที่กังวลเรื่องจีนแสดงความแข็งกร้าวมากยิ่งขึ้น นายบลิงเคนกล่าวปาฐกถาที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งขณะเยือนอินโดนีเซียว่า อินโด-แปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีพลวัตรมากที่สุดในโลก และได้กล่าวพาดพิงถึงจีนอย่างชัดเจนว่า ทุกคนล้วนมีส่วนได้ส่วนเสียในการสร้างหลักประกันให้แก่สถานภาพปัจจุบัน โดยไม่มีการบีบบังคับหรือข่มขู่ เพราะสหรัฐและพันธมิตร รวมทั้งผู้อ้างสิทธิในทะเลจีนใต้จะผลักดันการกระทำผิดกฎหมายทุกอย่าง เพื่อปกป้องระเบียบที่ได้ร่วมกันสร้างมาหลายทศวรรษในการทำให้ภูมิภาคนี้ยังคงเปิดกว้างและเข้าถึงได้ สหรัฐจะกระชับความสัมพันธ์กับพันธมิตรที่มีสนธิสัญญาระหว่างกันอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไทย และฟิลิปปินส์ และสร้างเสริมศักยภาพด้านกลาโหมและข่าวกรองกับหุ้นส่วนในอินโด-แปซิฟิก แต่จะไม่ทำให้ภูมิภาคนี้เป็นที่ทดสอบว่าจะให้สหรัฐหรือจีนเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งจะกดดันให้รัฐบาลเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว และนำประเทศกลับสู่ระบอบประชาธิปไตย รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐซึ่งมาเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รับตำแหน่งในเดือนมกราคม จะเยือนมาเลเซียและไทยในสัปดาห์นี้ เขาเผยว่า สหรัฐจะสร้างกรอบเศรษฐกิจภูมิภาคแบบครอบคลุมที่จะทำให้มีการลงทุนโดยตรงจากสหรัฐและช่วยธุรกิจอเมริกันหาโอกาสใหม่ ๆ ในภูมิภาคนี้มากขึ้น จะเสริมสร้างห่วงโซ่อุปทานและปิดช่องว่างการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน พร้อมกับถือโอกาสนี้พาดพิงจีนอีกครั้งว่า สหรัฐทราบเรื่องที่อินโด-แปซิฟิกกำลังกังวลว่า บริษัทต่างชาติมีกระบวนการที่คลุมเครือและทุจริตในการนำเข้าแรงงานของตนเอง ล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติและก่อมลพิษให้แก่ประเทศที่เข้าไปลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน.-สำนักข่าวไทย

รมว.ต่างประเทศสหรัฐถึงอินโดฯเพื่อกระชับสัมพันธ์อาเซียน

จาการ์ตา 13 ธ.ค.- นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเดินทางถึงอินโดนีเซียแล้วในวันนี้ เริ่มต้นการตระเวนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคนี้ ที่กลายเป็นสนามรบทางยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐกับจีน นายบลิงเคนเยือนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นครั้งแรกตั้งแต่รับตำแหน่งในดือนมกราคม เขาจะเยือน 3 ประเทศประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซียและไทย นักการทูตสหรัฐเผยก่อนหน้านี้ว่า บลิงเคนจะผลักดันเป้าหมายของประธานาธิบดีโจ ไบเดนที่ต้องการยกระดับการติดต่อกับ 10 ชาติในสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน และจะหารือวิสัยทัศน์ของไบเดนเรื่องแนวทางการตั้งกลุ่มเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้รัฐบาลไบเดนยังไม่ได้แจกแจงวิสัยทัศน์ดังกล่าวอย่างชัดเจน รอยเตอร์มองว่า รัฐบาลไบเดนเห็นว่า การกระชับความสัมพันธ์กับอาเซียนมีความสำคัญต่อการต้านทานการขยายอิทธิพลของจีน หลังจากรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ถอนสหรัฐออกจากข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกหรือทีพีพี (TPP) ในปี 2560 ทำให้สหรัฐถูกจำกัดความสามารถในการแผ่อิทธิพลทางเศรษฐกิจ ในขณะที่จีนหาทางเพิ่มความสัมพันธ์ทางการค้ากับประเทศในภูมิภาคนี้.-สำนักข่าวไทย

1 2 3 5
...