กรุงเทพฯ 15 มิ.ย.- นิสิตจุฬาฯ-ชาวบ้านคัดค้านการย้ายศาลเจ้าแม่ทับทิมออกจากพื้นที่เดิม ขณะที่ทายาทผู้ดูแลศาล วอนจุฬาฯ จัดสร้างศาลใหม่ในสถานที่ที่เหมาะสมให้แล้วเสร็จ ก่อนดำเนินการย้าย
บรรยากาศที่ศาลเจ้าแม่ทับทิม ซึ่งตั้งอยู่บริเวณเซียงกงเก่า ซอยจุฬาฯ 26 หลังมีกระแสข่าวว่า สำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมเข้ารื้อถอนศาล โดยก่อนหน้านี้ได้ทำหนังสือให้ผู้ดูแลขนย้ายทรัพย์สินออกจากพื้นที่ภายในวันนี้ (15 มิ.ย.) เพื่อจะใช้พื้นที่ดังกล่าวสร้างคอนโดมิเนียม
ล่าสุด พบว่าตั้งแต่ช่วงเช้า มีบรรดานิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นิสิตเก่า และชาวบ้านที่เคารพศรัทธา ทยอยเดินทางมากราบสักการะ “องค์หม่าโจ้ว” หรือ “เจ้าแม่ทับทิม” ตลอดทั้งวัน ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการไล่รื้อถอนศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่มีความเป็นมายาวนานรวมกว่า 150 ปี แม้ศาลเจ้าแห่งนี้จะถูกย้ายมาจากศาลเดิม คือ บริเวณสะพานเหลืองตั้งแต่ปี 2513 แต่ตัวสถาปัตยกรรมมีความเป็นเอกลักษณ์ มีลักษณะเป็นตัวตึกที่ก่อสร้างด้วยปูน ทำลวดลายคล้ายศาลเดิมที่ทำจากไม้ ขณะที่โบราณวัตถุภายใน เช่น ตัวองค์หม่าโจ้ว มีความเก่าแก่กว่า 100 ปี และตลอดทั้งวันไม่ปรากฏว่ามีผู้เกี่ยวข้องเข้ามารื้อถอนศาลแต่อย่างใด
ด้านนายธัชฐิราธร นิธิวุฒิยาภรรณ์ ทายาทผู้ดูแลศาลเจ้าแม่ทับทิม รุ่นที่ 4 ระบุว่า ทายาทผู้ดูแลศาลไม่ได้ปฏิเสธการย้าย เพราะจุฬาฯ เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน แต่ต้องการความชัดเจนเรื่องสถานที่ตั้งศาลแห่งใหม่ ซึ่งเคยตกลงกันว่า จุฬาฯ จะจัดสร้างให้และควรทำให้แล้วเสร็จเพื่อทำพิธีย้าย “องค์หม่าโจ้ว” ไปยังศาลใหม่ เพราะทราบดีว่าจุฬาฯ มีแนวคิดย้ายศาลแห่งนี้มากว่า 10 ปีแล้ว แต่ไม่มีความชัดเจนใดๆ มีแต่การย้ายชุมชนชาวบ้านรอบศาลเจ้าออกไป และกลายเป็นที่จอดรถ
จากนั้นในเดือนมีนาคม 2563 สำนักจัดการทรัพย์สินจุฬาฯ ทำหนังสือมาให้ย้ายออกภายในวันที่ 15 มิถุนายน และเมื่อสอบถามไปยังสถานที่ตั้งศาลแห่งใหม่ ได้รับการชี้แจงว่า จะจัดสร้างบริเวณอุทยาน 100 ปี จุฬาฯ ตรงอุโมงค์ทางจอดรถบริเวณชั้น 2 แต่ในขณะที่ชั้น 3 ถูกกำหนดเป็นทางเดินและฟิตเนส จึงมองว่าไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ยังไม่มีการจัดสถานที่ให้ผู้ดูแลศาลเจ้า ซึ่งอยู่กันมาหลายชั่วอายุคน ที่สำคัญตัวศาลเจ้าแห่งใหม่ยังไม่มีการก่อสร้างเกิดขึ้น จึงรู้สึกว่าไม่ถูกต้อง และอยากเรียกร้องให้เร่งจัดหาสถานที่ตั้งศาลแห่งใหม่ที่เหมาะสม พร้อมก่อสร้างศาลที่คงไว้ ซึ่งสถาปัตยกรรมแบบเดิมให้แล้วเสร็จ.-สำนักข่าวไทย