กรุงเทพฯ 14 มิ.ย.- สมชาย วอนรัฐพิจารณางบฟื้นฟู 4 แสนล้านบาทอย่างรอบคอบ ตัดโครงการสร้างถนน ประปา ซื้อ CCTV ทิ้ง เหตุไม่เกี่ยวกับโควิด ควรอยู่ในงบปกติ พร้อมแนะ ตั้งตัวแทนภาคประชาสังคม ภาควิชาการ ภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน เป็นผู้ทรงคุณวุฒิในกรรมการกำกับกองทุน
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวถึงการยื่นโครงการเพื่อขอใช้เงินกู้ตาม พ.ร.ก.ในส่วนของการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม 400,000 ล้านบาท กับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ในช่วงนี้ว่า โครงการที่เสนอมาแล้วกว่า 8 แสนล้านบาท มีโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูจากโควิด-19เป็นจำนวนมากกว่า 70-80 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ เช่น โครงการก่อสร้างถนน 10,150 เส้น ประปา 1,483 โครงการ และใช้เครื่องจักรเป็นตัวก่อสร้าง เป็นโครงการที่ควรอยู่ในงบประมาณปกติที่มีเงินอยู่แล้ว 6 แสนล้านบาท เพราะผู้ที่จะได้รับเงินก็คือผู้รับเหมาก่อสร้าง โดยที่ไม่เกิดการจ้างงาน นอกจากนี้ ยังมีโครงการซื้อกล้อง CCTV เงินออกนอกประเทศอีกกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งโครงการปะการังเทียมที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทำจริงหรือไม่ ดังนั้น จึงฝากกรรมการพิจารณาโครงการให้ตัดทิ้งทั้งหมด เนื่องจากบางโครงการก็เป็นโครงการปัดฝุ่น ตัดต่อพันธุกรรม บางครั้งเป็นโครงการที่ถูกตีตกแล้วตัดแปะชื่อโครงการ ด้วยการปรับเปลี่ยนชื่อให้มีความเกี่ยวข้องกับสถานการณ์โควิด ดังนั้น งบประมาณที่ไม่จำเป็นเร่งด่วนเหล่านี้ ควรอยู่ในงบประมาณปกติที่มีกระบวนการการกลั่นกรองตามระบบ 1 ปีอย่างละเอียดและรอบคอบ จะมาลักไก่ไม่ได้ แต่การใช้งบประมาณ 4 แสนล้านบาทนี้ เป็นการจัดซื้อจัดจ้างแบบพิเศษทั้งหมด เพราะเป็นงบเฉพาะเจาะจง ไม่เหมือนกับงบประมาณปกติ ก็อาจจะเกิดการเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องและเกิดการทุจริตได้ ยืนยัน ไม่ได้โทษฝ่ายการเมืองหรือฝั่งใดฝั่งหนึ่ง
“เขาบอกว่า ถ้าไม่เติมน้ำเติมปุ๋ย หรือเติมไปน้อย ต้นไม้ที่มีชื่อว่าประเทศไทยก็จะตาย แต่ผมมองว่า อยู่ดีๆเราเอาน้ำราดไปเลยโครม ต้นไม้ก็จะตายเหมือนกัน ดังนั้น รัฐบาลจึงควรแบ่งการให้เงินเป็นเฟสๆ จะ 4 เฟส 8 เฟส หรือ 10 เฟส ก็ได้ เหมือนกับเราค่อยๆเติมน้ำ ไม่ให้ต้นไม้ตาย นอกจากนี้ โครงการที่ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ตามความต้องการของจังหวัดก็ต้องตัดออก อย่าไปให้ โครงการที่เป็นงบปกติ อย่าไปให้งบที่สงสัยว่าจะทุจริต อย่าไปให้งบที่พิจารณาใหม่แบบตัดแปะ อย่าไปให้ เหมือนคนทำวิทยานิพนธ์แล้วตัดแปะ” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวอีกว่า ขอให้รัฐบาลพิจารณาอย่างรอบคอบ เน้นการจ้างแรงงานเป็นหลัก โดยเสนอให้นำเงินมาจ้างงานเด็กจบใหม่ในพื้นที่ หรือคนที่ตกงานในพื้นที่ มาทำงานที่จะช่วยเหลือชาวบ้านได้ เช่น เครื่องมือทำการเกษตร การค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งตนเห็นด้วยกับเงิน 4 แสนล้านบาท แต่ก็จะปล่อยให้เงินรั่วไหลไม่ได้ ถ้ารั่วไหลก็จะเกิดวิกฤติ ดังนั้น จึงเสนอว่า ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คนในคณะกรรมการกำกับกองทุน ควรมาจากตัวแทนภาคประชาสังคมที่คุ้นเคยเรื่องการปราบปรามการทุจริต เช่น นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ นายวิชา มหาคุณ อดีต กรรมการ ป.ป.ช. นอกจากนี้ ควรมีตัวแทนจากภาควิชาการที่มีโครงข่ายของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน เพื่อให้คนที่คิดจะทุจริตหวั่นเกรง ไม่กล้ากระทำทุจริตคอร์รัปชั่น.-สำนักข่าวไทย