กรุงเทพฯ 4 มิ.ย. – กรมวิชาการเกษตรเร่งทำความเข้าใจเกษตรกรให้ส่งคืนพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส โดยขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำชุมชนประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งสารวัตรเกษตรตรวจเยี่ยม ให้คำแนะนำเกษตรกรส่งคืนสารเคมีตามเวลาที่กฎหมายกำหนด
นางสาวอิงอร ปัญญากิจ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ได้ดำเนินมาตรการตามที่นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายทำความเข้าใจแก่เกษตรกร ร้านค้า ผู้ผลิต และผู้นำเข้าเกี่ยวกับการส่งคืนสารเคมีการเกษตร 2 ชนิด คือ พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งมีประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดให้เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2563 ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือจากผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้ประชาสัมพันธ์เกษตรกรเป็นลำดับแรก เนื่องจากต้องส่งคืนสารเคมีการเกษตรทั้ง 2 ชนิดที่ร้านค้าภายใน 90 วัน คือ ก่อนวันที่ 29 สิงหาคม
นอกจากนี้ ยังส่งสารวัตรเกษตรออกตรวจเยี่ยมเกษตรกร เพื่อสร้างความเข้าใจและให้คำแนะนำว่าหากจำได้ว่าซื้อจากร้านค้าใดให้ส่งคืนที่ร้านนั้น เพื่อที่ร้านค้าจะได้รวบรวมส่งผู้ผลิตและผู้นำเข้า ซึ่งร้านค้ารับมาจำหน่าย แต่ถ้าจำไม่ได้สามารถส่งคืนที่ร้านขายสารเคมีการเกษตรร้านใดก็ได้
ทั้งนี้ ยืนยันว่ากรมวิชาการเกษตรไม่มีนโยบายจะจับกุมเกษตรกร แต่จำเป็นต้องแนะนำให้ปฏิบัติตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ไม่เช่นนั้นจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยขณะที่ยังมีเวลาอยู่นี้จะเร่งทำความเข้าใจกับเกษตรกรให้ดีที่สุด จากการสำรวจปริมาณสารเคมี 3 ชนิด เดือนพฤษภาคมพบว่าทั่วประเทศมีร้านจำหน่าย 16,005 ร้าน สารที่ให้เลิกใช้ ได้แก่ พาราควอต 8,562.64 ตัน และคลอร์ไพริฟอส 697.08 ตัน ส่วนไกลโฟเซตอยู่ในมาตรการจำกัดการใช้มี 9,019.10 ตัน รวม 18.278.82 ตัน
นางสาวอิงอร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมวิชาการเกษตรได้ออกคำสั่งเกี่ยวกับแนวทางการบริหารจัดการพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ตามที่ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2563 ที่ให้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 ห้ามผลิต น้ำเข้า นำผ่าน ส่งออก และครอบครอง เมื่อประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมมีผลบังคับใช้ ทำให้ใบทะเบียน ใบอนุญาตผลิต และใบอนุญาตครอบครองพารควอตและคลอร์ไพริฟอส ซึ่งเดิมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 สิ้นสุดทันที ดังนั้น ผู้ที่มีไว้ในครอบครองก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2563 ต้องส่งคืนให้ร้านค้าภายใน 90 วัน หรือก่อนวันที่ 29 สิงหาคม 2563 ส่วนร้านค้าจัดจำหน่ายต้องส่งคืนผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า และแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ภายใน 180 วัน หรือก่อนวันที่ 28 กันยายน 256 สำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องแจ้งปริมาณต่อพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร เพื่อรวบรวมแจ้งปริมาณวัตถุอันตรายตามแบบ วอ./วก. 5 ภายใน 270 วันหรือก่อนวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564.-สำนักข่าวไทย