กทม.28 พ.ค.-เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก เปิดเวทีเสวนา ชี้การเรียนออนไลน์ สร้างปัญหาซ้ำซ้อนให้กับเด็กเล็ก เสนอ 2 ข้อเรียกร้อง “คำนึงถึงสิทธิของเด็กในการเล่น–หนุนผู้ปกครอง ครู ชุมชน ออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามบริบทของท้องถิ่น”
เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกประกอบด้วย มูลนิธิส่งเสริมสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก มูลนิธิเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา กลุ่มwe are happy องค์กรสารธารณะประโยชน์ และกลุ่มไม้ขีดไฟ โดยการสนับสนุนสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุภาพ (สสส.) จัดงานเสวนาออนไลน์ เรื่องปิดเมือง…ต้องไม่ปิดโลกการเรียนรู้ของเด็ก ตอน “ปลดล็อกเด็กเล็กจากเรียนหน้าจอ”
นพ.ยงยุทธ์ วงศ์ภิรมย์ศาสนติ์ ที่ปรึกษาอาวุโสกรมสุขภาพจิต เครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กล่าวว่า โรงเรียนต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง และให้มีชั่วโมงในชั้นเรียนให้น้อย เพื่อเป็นระบบป้องกันโควิด-19 ซึ่งจะเป็นโอกาสให้พ่อแม่ผู้ปกครองทบทวนตัวเองเข้ามารับผิดชอบการศึกษาของลูก แนวโน้มจะเป็นแบบนี้ สถานการณ์โควิดมีผลให้เด็กอยู่บ้านมากขึ้น บทบาทพ่อแม่มี 2แบบ 1.ดึงเด็กให้ไปทำกิจกรรม งานบ้าน งานครัว จะได้เรียนรู้ไปพร้อมกับมีประสบการณ์ติดตัวและความรับผิดชอบเมื่อโตขึ้น และการทำงานบ้านของเด็กผู้ชายจะเป็นการปลูกฝังเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ 2.การเล่นอิสระ เปิดพื้นที่ให้เด็กคิด เช่น ปั้น วาดรูป ศิลปะ มีการเคลื่อนไหวแล้วแต่ธรรมชาติจะสนใจอะไร โดยแบ่งสัดส่วน การจัดเวลาที่ดี จะได้ไม่ปล่อยให้อยู่หน้าจอทั้งวัน และ 3.เสริมสร้างการเรียนรู้เข้าไปทางอ้อม เช่น อ่านหนังสือตามวัยเด็ก เขียนไดอารี่ เข้าไปในบริบท คิด อ่าน เขียน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มทักษะเรียนรู้ที่ดีขึ้น
“ประสพสุข โบราณมูล”ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กล่าวว่า กลุ่มน่าห่วงคือเด็กกลุ่มเปราะบาง โดยเฉลี่ยเด็กอยู่หน้าจออย่างน้อย 7 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก พ่อแม่ไม่รู้ เพราะห่วงเรื่องต้องเอาชีวิตให้รอด การทำมาหากิน โดยคิดว่าการอยู่หน้าจอจะได้ไม่ติดโรค เป็นปัญหาซ้อนเข้าไปอีกในปัญหาเดิมของกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในชนบทที่มีความกังวลมากว่าลูกจะเรียนไม่ทัน ตนมองว่าผู้ใหญ่มุ่งเรื่องการเรียนรู้ที่มาจากความต้องการของผู้ใหญ่มากไปหรือเปล่า สำหรับเด็กช่วงปิดเทอมเป็นช่วง เวลาที่มีความสุข ควรได้เล่นอิสระควบคู่ไปกับการเรียนรู้วิถีชีวิตอย่างมีความสุขแบบที่ไม่มีในเรียนในห้องเรียน ถ้าลองคิดถึงวัยเด็กของตนเองก็จะเข้าใจ ยิ่งช่วงวิกฤติของโรคโควิด-19 เด็กยิ่งต้องได้เล่นเพื่อปลดปล่อยผ่อนคลายความตึงเครียด และเรียนรู้การจัดการกับวิกฤติ โดยมีครอบครัว ครู ชุมชน ร่วมสนับสนุนและพัฒนากระบวนการการเรียนรู้ และเปิดพื้นที่ส่วนกลางที่ปลอดภัยให้ได้เรียนรู้ ได้เล่น โดยออกแบบร่วมกัน ชุมชน รัฐ พ่อแม่ตามบริบทที่เหมาะสม โดยต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจกับครอบครัว กลุ่มผู้ปกครองแนวคิดการเล่นที่เป็นธรรมชาติ
“ทีมเล่นเปลี่ยนโลกส่งเสริมแนวคิดความเข้าใจเรื่องการเล่นอิสระให้กับครอบครัวโดยครู อาสามัครผู้ดูแลการเล่น ให้สามารสร้างมุมเล่น ส่งเสริมการเล่นและเรียนรู้ให้ลูกในบ้าน สร้างสนามเด็กเล่นเล็กในบริเวณบ้านได้ หรือ Play@Home เตรียมเสนอให้สนามเด็กเล่นเล็กๆให้เด็กได้ออกมาเล่นนอกบ้าน รวมทั้งเดลิเวอรี่ของเล่นส่งตรงไปให้ครอบครัว พร้อมเตรียมทำรถปันเล่น รถพุ่มพวงของเล่น ห้องสมุดของเล่น ตระกร้าหรรษา ลงไปในชุมชนพื้นที่ให้กับเด็กๆ” ผู้ประสานงานเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มเครือข่ายฯ มีข้อเสนอด้านนโยบาย 1.ขอเรียกร้องให้คำนึงถึงสิทธิในการเล่นของเด็กเป็นสำคัญตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 31) เด็กมีสิทธิจะมีเวลาพักและเวลาพักผ่อน ขอให้ช่วงปิดเทอม1เดือนเป็นเวลาของความสุขของเด็กที่จะได้เล่นและเรียนรู้ตามธรรมชาติและความต้องการตามวัยเด็ก กลุ่มเด็กปฐมวัยและอนุบาล ขอให้ยกเลิกการเรียนออนไลน์ และDLTV เน้นส่งเสริมการเล่นอิสระ โดยผู้ปกครอง ครอบครัว ออกแบบและจัดการเล่นตามบริบทของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น เด็กประถม เน้นส่งเสริมการเล่นและจัดกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายที่มีเนื้อหาการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิตตามบริบทของท้องถิ่น หรือวิชาที่เกี่ยวข้องกับทักษะชีวิตทางสังคมของเด็ก และช่วงสถานการณ์โรคระบาดไวรัส
2.ขอให้กระทรวงศึกษาธิการสนับสนุนให้ผู้ปกครอง ครูและชุมชนออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมตามบริบทของท้องถิ่น และสามารถทดแทนและหรือใช้เป็นชั่วโมงวิชาเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต สนองนโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ได้อย่างแท้จริง จัดทำเนื้อหาการสอนออนไลน์สำหรับผู้ปกครองโดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็ก ในเรื่องการเล่น แนวทางการเป็นผู้ดูแลการเล่น (Play worker) และจัดทำเนื้อหา และรูปแบบกิจกรรม การให้ความสำคัญกับการสร้างเสริมประสบการณ์ชีวิต และการจัดการกับสถานการณ์วิกฤติในช่วงการระบาด ครอบครัว ครู ชุมชน ต้องให้โอกาสเด็กได้เล่น ภาครัฐต้องช่วยออกแบบ หาแนวทางสนับสนุน.-สำนักข่าวไทย