กรุงเทพฯ 8 ก.ค.- 3 โรงเรียนดัง “กรุงเทพคริสเตียนฯ-สาธิตเกษตรฯ-สาธิต มศว ปทุมวัน” ออกประกาศเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นออนไลน์ หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กลับมามีแนวโน้มสูงขึ้น โดย ก.สาธารณสุข สั่งกำชับโรงเรียนเข้มมาตรการ หลังพบการระบาดหนักในเด็ก
เริ่มที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ออกประกาศการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอนในช่วงวันที่ 11-19 ก.ค.นี้ สืบเนื่องมาจากตลอดระยะเวลา 8 สัปดาห์ที่เปิดเรียน มีนักเรียนติดเชื้อโควิด-19 ไปแล้วกว่า 688 คน ส่วนบุคลากรในโรงเรียนติดเชื้อไปแล้ว 70 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.ค.) โรงเรียนมีมาตรการปิดห้องเรียนเป็นเวลา 5 วัน สำหรับห้องเรียนที่ติดเชื้อมากกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนนักเรียน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ซึ่งผลออกมาน่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่ยังพบว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนน่ากังวลว่าจะกระทบต่อการเรียนการสอน เพราะนักเรียนและบุคลากรจำนวนหนึ่งต้องพักรักษาตัวที่บ้าน ทางโรงเรียนจึงขอประกาศ และทางโรงเรียนจะจัดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในห้องเรียนทุกวัน รวมไปถึงลดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือกิจกรรมนอกเวลาเรียนที่มีการรวมกลุ่ม
สาธิตเกษตรฯ ปรับเรียนออนไลน์ 11-12 ก.ค.
โรงเรียนต่อมาคือ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกประกาศเรื่อง การเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน โดยระบุว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดมีแนวโน้มสูงขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายของเชื้อโรคและตัดวงจรการแพร่ระบาด โรงเรียนจึงพิจารณาจัดรูปแบบการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 11-12 กรกฎาคม และกลับมาเรียนปกติในวันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม
สาธิต มศว ปทุมวัน ประกาศเรียนออนไลน์ 8-12 ก.ค.65
โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน ออกประกาศการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเรียนการสอน ตั้งแต่วันนี้ (8 ก.ค.) ไปจนถึงวัน 12 กรกฎาคม เป็นการเรียนการสอนแบบออนไลน์ เนื่องมาจากมีการแพร่ระบาดของโควิดอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรค จึงกำหนดให้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนและปฏิบัติหน้าที่ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 8-12 กรกฎาคม โดยโรงเรียนกำหนดการเรียนและการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติที่โรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคมเป็นต้นไป
สธ.เผยกำชับโรงเรียนเข้มมาตรการหลังพบระบาดหนักในเด็ก
และวันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ โดยก่อนการประชุม นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยสั้น ๆ ว่า วันนี้กระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีการเสนออะไรเป็นพิเศษในที่ประชุม ศบค. ส่วนเรื่องการระบาดของโควิด-19 ในโรงเรียนขณะนี้ กำชับโรงเรียนให้เข้มเรื่องมาตรการ และไม่ได้น่าห่วงอะไร เพราะเด็กที่ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการน้อย ขณะที่กรณี รร.กรุงเทพคริสเตียนฯ พบเด็กและบุคลากรติดเชื้อตั้งแต่เปิดเทอมสะสมกว่า 700 คน เบื้องต้นได้รับรายงานแล้ว และเมื่อถามว่าจะต้องมีมาตรการปิดโรงเรียนหรือไม่ ขอให้รอผลการประชุม ศบค.ในวันนี้ก่อน
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า การประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ กระทรวงสาธารณสุข จะเสนอขอลดจำนวนวันในกระบวนการรักษาเป็น 5 + 5 วัน 5 วันแรกกักตัว และ 5 วันหลัง เป็นการสังเกตอาการ และสามารถออกไปข้างนอกได้
“ชัชชาติ” เผยโรงเรียนในสังกัด กทม.ยังไม่น่าห่วง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึงการประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันนี้ว่า ในส่วนของ กทม.ยังไม่มีอะไร ขอให้รอฟังผลการประชุม ศบค. และเมื่อถามว่ามีความเป็นห่วงการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงเรียนพื้นที่ กทม.หรือไม่ นายชัชชาติ กล่าวว่า ในส่วนโรงเรียนสังกัด กทม.ยังไม่มีอะไร แล้วแต่ที่ประชุม
นายกฯ สั่งติดตามการกลายพันธุ์โดยเฉพาะ BA.4-BA.5
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุม ศบค.ว่า มีเรื่องที่จะเรียนให้ที่ประชุมรับทราบ คือ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รายงานผลการติดตามการแพร่ระบาดในช่วงที่ผ่านมา และระบุว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโควิด-19 จากสายพันธุ์โอไมครอน BA.4, BA.5 ซึ่ง WHO แสดงความกังวลในเรื่องนี้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของพันธุกรรมโควิด เพราะหลายประเทศผ่อนคลายมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรค ซึ่งอาจทำให้การติดตามสถานการณ์สายพันธุ์ใหม่ยากยิ่งขึ้น และขอร้องให้ประเทศต่าง ๆ สร้างภูมิคุ้มกันกับประชาชน เพื่อลดอาการรุนแรงและการเสียชีวิตหากติดเชื้อ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
ส่วนข้อมูลการแพร่ระบาดของโควิดทั่วโลกขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.4, BA.5 มากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและสหรัฐอเมริกา อาจทดแทนสายพันธุ์เดิม แม้ยังไม่มีข้อมูลว่าสายพันธุ์ดังกล่าวมีการแพร่เชื้อที่รุนแรงมากกว่าสายพันธุ์เดิมอย่างไร แต่การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจะช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้
ขณะที่การแพร่ระบาดในไทยก็มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการ โดยพบผู้ติดเชื้อมีอาการเล็กน้อยและรักษาตัวที่บ้านมากขึ้น แต่ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นไม่มากนัก จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ติดตามผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง รวมทั้งสุ่มตรวจ และติดตามการกลายพันธุ์โดยเฉพาะ BA.4, BA.5 เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และกำหนดมาตรการต่อไป.-สำนักข่าวไทย