สธ.27 พ.ค.-รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ย้ำไม่จำเป็นต้องรื้อระบบคัดกรองโรคใหม่ หลังพบผู้ป่วยกักตัวในสถานที่กักตัวรัฐจัดหาให้ในวันที่ 14 เพราะยังอยู่ในหลักเกณฑ์ ขอให้ทำตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ถูกใจ ยืนยันการป่วยในผู้ป่วยรายนี้ติดเชื้อจากต่างประเทศ พร้อมเผยรถ ไฟฟ้า BTS เริ่มทดลองให้บริการเดินรถแบบเปิดหน้าต่าง หลังพบปัญหาคนแออัดในชั่วโมงเร่งด่วน พร้อมเชียร์ MRT ทำตาม ดูดอากาศภายนอกเข้าตัวรถ ช่วยอากาศถ่ายเท
นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวในการแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันของกระทรวงสาธารณสุข ว่า สถานการณ์โควิดในวันนี้พบผู้ป่วยเพิ่มจำนวน 9 คน ทั้งหมดกลับมาจากต่างประเทศ และถูกกักตัวภายในสถานที่รัฐจัดหาให้ หรือ State Quarantine มาจาก สหรัฐอเมริกา 2 คน , การ์ตา 1 คน และซาอุดิอาระเบีย 6 คน ซึ่งจากการสอบสวนโรคในส่วนนี้ที่พบผู้ป่วยในวันที่ 14 ของการกักตัว ไม่ถือเป็นเรื่องแปลก ทุกอย่างเป็นไปตามหลักวิชาการ ดังนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องมีการขยายมาตรการเฝ้าระวังให้มากกว่า 14 วัน เพราะการป่วยนี้ ไม่ได้แสดงอาการทันที นิยามการเฝ้าระวังครอบคลุมอยู่แล้ว ในรายที่เดินทางกลับมาจากสหรัฐอเมริกา ไม่ได้หมายความว่า เพิ่งป่วยเมื่อวันที่ 14 เขาอาจป่วยมาก่อนและไม่ได้แสดงอาการและรายนี้เป็นการติดเชื้อมาจากต่างประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องปรับแก้ไขนิยามโรค ทุกอย่างต้องทำตาม และอาศัยหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่ความรู้สึก
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ในต่างประเทศมีการศึกษาการป่วยและติดเชื้อ อย่างในจีน พบว่าการเดินทางด้วยรถโดยสารปรับอากาศ เป็นระบบอากาศปิด ทำให้อัตราการแพร่เชื้อแม้คนป่วยจะนั่งท้ายรถโดยสาร แต่โอกาสที่จะติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นได้ โดยระยะหว่างระหว่างคนป่วยกับคนที่สัมผัสติดเชื้อมีระยะได้ไกลถึง 4.5 เมตร เช่นเดียวกับการรับประทานอาหารในร้าน ที่มีการติดเครื่องปรับอากาศ อากาศจะวนหมุนอยู่ในห้อง การนั่งทานอาหารแบบโต๊ะจีนมีโอกาสเสี่ยงติดโรค ดังนั้นต้องมีการเว้นระยะห่าง และหาอุปกรณ์ หรือฉากมากั้นเพื่อความปลอดภัย เพราะการรับประทานอาหารต้องถอดหน้ากากอนามัย
นพ.ธนรักษ์ กล่าวว่า ข้อมูลจากประเทศสวีเดนที่ตอนแรก ประเทศมีความตั้งใจที่จะให้ร่างกายของประชากรในประเทศได้รับภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ จึงปล่อยให้มีการติดเชื้อ โดยหวังว่าภายในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีคนป่วยในประเทศมากถึงร้อยละ 60 แต่ปรากฎว่า ประชากรกลับมีภูมิคุ้มกันแค่ร้อยละ 7 และต้องเผชิญกับอัตราการป่วยจำนวนมาก และอัตราการเสียชีวิต ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นบทเรียนให้ไทย นำมาปรับใช้
นพ.ธนรักษ์ กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ทราบว่าเมื่อมีการผ่อนปรนมาตรการกิจกรรม และกิจการทำให้คนเดินทางกันมากขึ้น ข้อมูลจากรถไฟฟ้าบีเอส พบว่าใช่วงเวลาเร่งด่วน การเดินทางอยู่สภาพแออัด ทางรถไฟฟ้าบีทีเอสจึงได้มีการทดลองออกมาตรการ เปิดหน้าต่างเดินรถ เพื่อลดโอกาสการแพร่โรค และ ความแออัด ทำให้อากาศถ่ายเท ซึ่งทางกรมควบคุมโรค ก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และหากมีการศึกษาวิจัย จะได้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการป้องกันโรค ซึ่งในส่วนของรถไฟฟ้าMRT ก็สามารถทำได้ แม้อยู่ใต้ดิน ใช้ระบบเดียวกับเครื่องบิน ดึงอากาศภายนอกเข้าไปในรถ โดยผ่านระบบ
HEPA Filter กรองอากาศเข้าไป ซึ่งเรื่องกลไกของอากาศในเครื่องบิน ก็ถูกนำมาเป็นหลักใช้ในการสอบสวนโรค เพราะว่าอากาศจะวนหมุนอยู่ในตำแหน่ง 2 แถวหน้า และ 2 แถวหลังเท่านั้น
นพ.ธนรักษ์ กล่าวด้วยว่า มาตรการเหลื่อมเวลายังควรนำกลับมาใช้ทั้งในธุรกิจ กิจการขนาดใหญ่และเล็ก เพื่อป้องกันโรค ส่วนสถานการณ์การป่วยของไทย ในแต่ละจังหวัดพบมีถึง 65 จังหวัด ไม่มีผู้ป่วยมาแล้วในรอบ 4 สัปดาห์ และ 10 จังหวัด พบอัตราการป่วยร้อยละ 0.1-1 คน ซึ่งแม้ว่าสถานการณ์แนวโน้มจะดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถไว้วางใจ เพราะ 8-9 จังหวัด ที่เคยมีอัตราการป่วยสูง แต่วันนี้ไม่พบอัตราการป่วย ก็อาจเป็นไปได้ที่ จะมีผู้ป่วยไม่แสดงอาการอยู่ในชุมชน ดังนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการสอบสวนโรค และค้นหาผู้ป่วย
ส่วนกรณีที่เกาหลีใต้พบการติดเชื้อในศูนย์กระจายสินค้าออนไลน์ ซึ่งทำให้วิถีชีวิตใหม่ของคนไทย ที่ใช้ซื้อขายผ่านออนไลน์กังวล กลัวติดเชื้อนั้น ย้ำว่า ควรระวังแต่อย่าวิตก เพราะระบบของบริษัทต้องมีการตรวจวัดไข้คนทำงาน แต่ในส่วนของสินค้าหากไม่แน่ใจ อย่าเพิ่งรีบแกะ พักไว้ก่อน แต่อยากให้ทำความเข้าใจว่า เชื้อโควิดอยู่ในสิ่งแวดล้อมในอากาศ 20 องศาเซลเซียส นานที่สุด2 วัน เมืองไทยมีสภาพอากาศร้อนจัด เชื้อไม่น่า จะอยู่ในสภาพแวดล้อมได้นาน .-สำนักข่าวไทย