กรุงเทพฯ 21 เม.ย.- “ธนาธร” จับมือเอกชนผลิตห้องตรวจเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน และเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เตรียมมอบให้ 12 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ระบุ หลังหมดโควิด-19 อุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำคณะก้าวหน้า นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพื่อหยุดยั้งการแพระบาดของเชื้อโควิด-19 เพื่อมอบแก่โรงพยาบาลที่แสดงความประสงค์ต้องการใช้อุปกรณ์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย 2 รายการ คือ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ (Patient Transportation Chamber) เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส ในระหว่างเคลื่อนย้ายจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง และ ห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน (Modular ARI Clinic ) ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการแรงดันบวก สำหรับบุคคลากรทางการแพทย์ด้านหนึ่ง และห้องความดันลบ สำหรับผู้เสี่ยงติดเชื้อ ผู้ถูกตรวจอีกด้านหนึ่ง ในรูปแบบที่ยกมาติดตั้งและถอดออกได้อย่างสะดวก
นายธนาธร กล่าวว่า ได้รับการติดต่อจากศิษย์เก่าคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำงานกับคณะแพทย์ ให้ร่วมผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เนื่องจากเห็นว่าตนมีศักยภาพในการผลิต จึงได้ใช้ข้อมูลจากเพจ Open Source Covid Thailand และคณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ที่เปิดให้สาธารณะผลิตและออกแบบ โดยร่วมมือกับ 3 บริษัทเอกชนที่ร่วมสนับสนุนในการผลิตได้แก่ บริษัท จรูญรัตน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด บริษัทซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด และ กลุ่มบริษัท โอ.อี.ไอ พาร์ท จำกัด ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการอุตสาหกรรมระดับโลก
“เป็นการผลิตตามความความต้องการของแต่ละโรงพยาบาล เบื้องต้นมีโรงพยาบาล 12 แห่งทั่วประเทศ ที่แสดงความประสงค์ขอรับอุปกรณ์ทางการแพทย์ดังกล่าว แบ่งเป็นเตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ จำนวน 18 ชุด และห้องตรวจโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจชนิดเฉียบพลัน จำนวน 11 ชุด โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เพื่อช่วยโรงพยาบาลรับมือการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 และอำนวยความสะดวกแก่บุคคลากรด้านสาธารณสุข ให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และเป็นขวัญกำลังใจให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ที่จะต้องสัมผัสกับผู้ป่วย” นายธนากร กล่าว
นายธนาธร กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมมือร่วมใจของภาคเอกชนที่ไม่หวังผลกำไร และหลังจากควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้แล้ว อุปกรณ์เหล่านี้ยังสามารถรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้ออื่นๆ ได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยวัณโรค
นายธนาธร กล่าวว่า วันที่ 24-26 เม.ย.นี้ จะส่งมอบอุปกรณ์ดังกล่าวให้ 2 โรงพยาบาลแรก คือ โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี เนื่องจากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องการอุปกรณ์ทางแพทย์เ พราะมีผู้ป่วยติดเชื้อจำนวนมาก ส่วนโรงพยาบาลอื่นจะทยอยส่งมอบในวันที่ 2 และ 3 พฤษภาคม 2563
สำหรับ 12 โรงพยาบาลที่ร่วมโครงกา รประกอบด้วย โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี โรงพยาบาลชลบุรี โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา โรงพยาบาลสันทราย จ.เชียงใหม่ โรงพยาบาลสนามศูนย์โควิด19 จ.เชียงใหม่ ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เชียงใหม่ โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต โรงพยาบาลสนาม ม.สงขลา วิทยาเขตภูเก็ต โรงพยาบาลยะลา โรงพยาบาลยะรัง จ.ปัตตานี โรงพยาบาลสงขลา โรงพยาบาลคลองหอยโข่ง จ.สงขลา และโรงพยาบาลกงหรา จ.พัทลุง .- สำนักข่าวไทย