กรุงเทพฯ 18 มี.ค. – รมว.เกษตรฯ รับข้อเสนอม็อบหนี้สินเกษตรกร เตรียมนำเข้าที่ประชุมบอร์ดกองทุนฟื้นฟูฯ สัปดาห์หน้า ให้ผู้ชุมนุมรอฟังข่าวดีที่บ้าน หวั่นอยู่รวมกันจำนวนมากเสี่ยงติดเชื้อ COVID-19
นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้รับข้อร้องเรียนของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งมาชุมนุมให้ช่วยแก้ปัญหาหนี้สิน โดยจะนำเรื่องหารือในที่ประชุมกองทุนฟื้นฟูเพื่อพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) ในสัปดาห์หน้า หากที่ประชุมคณะกรรมการ กฟก.มีมติให้ดำเนินโครงการปรับโครงสร้างหนี้แล้วจะส่งให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์นำเสนอ ครม.พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรของพระราชาซึ่งเดินทางมาจังหวัดกำแพงเพชร นครสวรรค์ และพิษณุโลกประมาณ 600 คน ชุมนุมต่อเนื่อง 90 วัน เรียกร้องให้กระทรวงเกษตรฯ ปรับโครงสร้างหนี้สมาชิกกลุ่ม 2,400 ราย โดยให้ดำเนินการครอบคลุมธนาคารของรัฐทั้ง 5 แห่งและสหกรณ์ รวมถึงให้นำหลักเกณฑ์ของการปรับโครงสร้างหนี้ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2553 และวันที่ 2 ตุลาคม 2561 มาใช้ร่วมกัน คือ ให้เกษตรกรชำระหนี้ 50% ภายในระยะเวลาที่กำหนดในส่วน 50% ที่เหลือและดอกเบี้ยที่พักไว้ให้ยกให้ทั้งหมดและมีแผนฟื้นฟูอาชีพอย่างเข้มข้น โดย กฟก.ตรวจสอบคุณสมบัติสมาชิกของกลุ่มเกษตรกรของพระราชาพบว่า ส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของ กฟก. ซึ่งขณะนี้ กฟก.กำลังปรับโครงสร้างหนี้ให้สมาชิกภายใต้เงื่อนไขที่ใกล้เคียงกันกับที่ทางกลุ่มเสนอ
นายสุธัญญ์ ฤทธิขาบ ผู้อำนวยการ สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน (สกร.) กล่าวว่า กลุ่มเกษตรกรมอบเงินให้แก่ กฟก. เพื่อชำระหนี้งวดแรก 1,650,000 บาท พร้อมรับข้อเรียกร้องให้ชะลอการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ที่มีหนี้ โดยชี้แจงเกษตรกรว่าจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 การชุมนุมของเกษตรกรจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ขอให้กลับไปรอฟังมาตรการแก้ไขปัญหาหนี้สินที่ภูมิลำเนา โดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประธานคณะกรรมการ กฟก.จะเร่งนัดประชุมกับทุกภาคส่วนทั้งสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงินเจ้าหนี้ เพื่อหาทางออกร่วมกันในการแก้หนี้ให้เกษตรกรทั้งประเทศ ล่าสุดขอความอนุเคราะห์จากกรมชลประทานจัดรถบัส 6 คัน รถตู้ 1 คัน และรถบรรทุก 6 ล้อ 2 คัน เพื่อส่งเกษตรกรเดินทางกลับบ้านเรียบร้อยแล้ว.-สำนักข่าวไทย