กรุงเทพฯ 19 ก.พ. – ภาครัฐ-เอกชนลงนามพัฒนาระบบราง ดันยุทธศาสตร์ “ไทยเฟิร์ส” โครงระบบรางใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศร้อยละ 40 ภายใน 4 ปี พร้อมวางแผนความต้องการใช้บุคลากรด้านระบบรางในอนาคต
นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการส่งเสริมการพัฒนาระบบราง ระหว่างกรมการขนส่งทางรางกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 หน่วยงาน โดยระบุว่าการพัฒนาระบบรางต้องพัฒนา 2 ส่วนพร้อมกัน ทั้งด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและบุคลากร ซึ่งสถาบันวิจัยต่าง ๆ ที่ร่วมลงนามครั้งนี้จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยกันพัฒนาและผลักดันระบบรางให้มีศักยภาพ และเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมรางในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
นอกจากนี้ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจะมีการหารือร่วมกันถึงทิศทางการผลิต ฝึกฝนบุคลากร เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมระบบรางในอนาคตว่าจะมีความจำเป็นต้องผลิตบุคลากรผ่านระบบอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องกับระบบรางแต่ละปีในจำนวนเท่าใด เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรม ขณะที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงมีการลงทุนระบบรางรูปแบบใหม่จำนวนมากทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง
ด้านนายสรพงษ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า การลงนามครั้งนี้จะมีการวางมาตรฐาน เพื่อกำหนดชิ้นส่วนของรถไฟและการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์รถไฟภายในประเทศให้ได้ร้อยละ 40 ในปี 2566 หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันไทยสามารถผลิตอุปกรณ์ในระบบส่งกำลัง ระบบเบรก และอุปกรณ์ภายในตัวรถได้แล้ว และขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เริ่มมีการสั่งซื้อขบวนรถบรรทุกสินค้าที่ประกอบภายในประเทศ ซึ่งจะมีส่วนทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับระบบราง เช่น อุตสาหกรรมเหล็กมีการเติบโตมากขึ้น นอกจากนี้ การใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศจะทำให้ลดค่าใช้จ่ายการซ่อมบำรุงที่ปัจจุบันมีการใช้งบประมาณ 9,600 ล้านบาทต่อปี และในอนาคตจะเพิ่มเป็นกว่า 15,000 ล้านบาทต่อปี อีกทั้งอาจจะช่วยลดราคาค่าโดยสารของผู้ใช้บริการได้อีกด้วย.-สำนักข่าวไทย