กรุงเทพฯ 3 ธ.ค. – กระทรวงคมนาคมจับมือกระทรวงคมนาคมประเทศเยอรมนี ลงนามความร่วมมือพัฒนาระบบราง ส่งเสริมงานวิจัย พัฒนาบุคคลากร ถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับคุณภาพการเดินทางระบบรางของไทย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามความตกลงว่าด้วยการต่ออายุแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (JDI) ระหว่างกระทรวงคมนาคมของไทยกับกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ถือเป็นการส่งเสริมความร่วมมือวิชาการระหว่างไทยและเยอรมนีด้านระบบราง รวมถึงการแลกเปลี่ยนให้ความรู้และฝึกอบรมในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และ ช่างเทคนิคเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบรถไฟในประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งซ่อมสร้าง แหล่งผลิต และแหล่งรวมวิทยาการระบบรางที่เป็นรูปธรรม ภายใต้นโยบาย Thai First เสริมสร้างความเข้มแข็ง ของอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศไทยในอนาคต
นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงคมนาคมมีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม โดยใช้เทคโนโลยีชั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมควบคู่กับการลดใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบคมนาคมทางรางเป็นรูปแบบการเดินทางที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน จึงเร่งพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากนี้ ยังได้พัฒนารถไฟทางคู่ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเดินทาง ขนส่ง และโลจิสติกส์ รวมถึงพัฒนาโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง เพื่อเป็นทางเลือกในการเดินทางที่มีประสิทธิภาพสูง และ พร้อมที่จะเชื่อมต่อประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยตระหนักดีว่าสหพันธ์ สาธารณรัฐเยอรมนี้เป็นหนึ่งในผู้นำด้านอุตสาหกรรมระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของโลก เป็นแหล่งวิจัยค้นคว้าและ ผลิตเทคโนโลยีระบบรางชั้นสูง กระทรวงคมนาคมจึงมั่นใจว่าฝ่ายเยอรมนีจะสนับสนุนการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานระบบรางของประเทศไทยเพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยในช่วงที่ประเทศไทยอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบราง ทั้งโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้าใน เมือง รวมถึงสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางซ่อมสร้าง ระบบรางในภูมิภาคด้วย
ด้านนายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญระหว่างไทย-เยอรมนีในการต่ออายุการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ เพื่อพัฒนาระบบราง ตามเป้าหมายหลักที่วางไว้ และพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และนับได้ว่าเป็นโอกาสที่สำคัญของประเทศไทยตามแผนพัฒนาที่วางไว้อย่างแน่วแน่ ที่จะยกระดับระบบพื้นฐานในประเทศ โดยเยอรมนีพร้อมที่จะแบ่งปันตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ และประสบการณ์ที่เรียนรู้ให้กับประเทศไทย และมีความยินดีที่จะประสานความร่วมมือของ เครือข่ายของผู้เชี่ยวชาญจากประเทศไทยและเยอรมนีต่อไป
สำหรับผลการดำเนินการที่ผ่านมา ทั้ง 2 ประเทศได้ร่วมกันจัดกิจกรรมและการดำเนินการต่าง ๆ ภายใต้แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงค์ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ สรุปได้ดังนี้ การจัดตั้งสมาคมระบบราง ไทย-เยอรมนี (GTRA) เพื่อเป็น ช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่าง ๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือ ด้านระบบรางให้มีความยั่งยืน
การลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการเพื่อจัดทำหลักสูตรปริญญาร่วม วิศวกรรมศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิศวกรรมระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ RWTH Aachen University ของเยอรมนี และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนา เทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร
ทั้งนี้ จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ทำให้การพัฒนาด้านระบบรางในประเทศไทยมีความก้าวหน้า มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีระบบราง ส่งผลให้กระทรวงคมนาคม ของไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของเยอรมนี มีความเห็นชอบร่วมกันที่จะต่ออายุ แถลงการณ์ดังกล่าวต่อไปอีก 2 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาระบบรางของประเทศไทยให้มี ความยั่งยืนในอนาคต.-สำนักข่าวไทย