กรุงเทพฯ 30 ม.ค. – กรมวิชาการเกษตรคิดค้นเทคโนโลยีปราบหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดสำเร็จเป็นประเทศแรกของอาเซียน FAO ชื่นชมและนำไปถ่ายทอดประเทศอื่น เพื่อยับยั้งการระบาด
นางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า วิจัยจนได้เทคโนโลยีป้องกันและกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดแบบผสมผสาน (IPM) หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด เป็นศัตรูพืชต่างแดนที่เข้ามาระบาดในประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม 2561 โดยพบครั้งแรกแหล่งปลูกข้าวโพดจังหวัดต่าง ๆ เช่น สุพรรณบุรี เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร สุพรรณบุรี และตาก ทำความเสียหายอย่างรุนแรงและรวดเร็ว รวมถึงแพร่กระจายไปยังพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั่วประเทศกว่า 50 จังหวัด
นางสาวเสริมสุข กล่าวว่า ตั้งแต่พบการระบาดในไทย กรมวิชาการเกษตรเร่งจัดทำโครงการวิจัย เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาด รวม 17 การทดลอง ได้แก่ การทดสอบประสิทธิภาพสารเคมี การนำสารฟีโรโมนมาทดสอบ การควบคุมโดยชีววิธี การใช้สารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อแบคทีเรียบาซิลลัส ทูริงเยนซิส เชื้อไวรัส NPV เชื้อรากำจัดแมลง และไส้เดือนฝอยกำจัดแมลง การใช้แมลงศัตรูธรรมชาติชนิดต่าง ๆ เช่น แตนเบียนไข่ แมลงหางหนีบ และมวนพิฆาต การใช้วิธีเขตกรรมและวิธีกล เทคนิคการพ่นสารเคมี รวมทั้งศึกษาชีววิทยาและพืชอาศัยของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดด้วย จนกระทั่งได้วิธีการผสมผสานเหมาะสมกับประเทศไทย
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยได้รับคำชื่นชมจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เรื่องระบบการเฝ้าระวังและป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้อย่างรวดเร็วและให้ไทยเป็นต้นแบบของอาเซียน ขณะนี้หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากประเทศไทย เช่น อินโดนิเซียขอให้ไทยส่งผู้เชี่ยวชาญหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดไปให้คำแนะนำ ส่วนประเทศญี่ปุ่นหารือเพื่อขอทำงานวิจัยร่วมกัน นอกจากนี้ ลาว กัมพูชา เมียนมา และฟิลิปปินส์ได้นำเทคโนโลยีคำแนะนำการป้องกันกำจัดหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดที่ไทยแนะนำไปใช้ด้วย
สำหรับหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดเป็นแมลงศัตรูพืชใหม่ของข้าวโพด ซึ่งพบการระบาดรุนแรงสามารถระบาดข้ามพรมแดนได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากตัวเต็มวัยสามารถบินได้ไกลเฉลี่ย 100 กิโลเมตร/คืน และสามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ที่สำคัญ คือ มีพืชอาหารให้อิงอาศัยได้มากกว่า 80 ชนิด โดยมีรายงานการระบาดครั้งแรกภาคกลางและภาคตะวันตกของทวีปแอฟริกาในช่วงต้นปี 2559 หลังจากนั้นแพร่กระจายเกิดการระบาดในหลายประเทศเกือบทั่วทวีปแอฟริกา ส่วนทวีปเอเชียมีรายงานพบการระบาดครั้งแรกปี 2561 ที่ประเทศอินเดีย หลังจากนั้นเป็นต้นมาหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้เคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือและทิศใต้ของเอเชียอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันพบการแพร่ระบาดถึง 16 ประเทศ
“กรมวิชาการเกษตรพร้อมถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อสภาพการปลูกข้าวโพดในประเทศไทยให้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้เกี่ยวข้อง เช่น กรมส่งเสริมการเกษตร ผู้ประกอบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด และเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ทำให้ลดความเสียหายของผลผลิตได้มาก โดยข้าวโพดยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ความต้องการใช้ในประเทศมีมากกว่าที่ผลิตได้ ซึ่งการเพิ่มปริมาณผลผลิตจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นและไทยสามารถลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศได้ด้วย” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว.-สำนักข่าวไทย