กรุงเทพฯ 26 ม.ค. – กรมวิชาการเกษตรเผยผลตรวจสารอินทรีย์กำจัดวัชพืช ผลิตโดยศูนย์เรียนรู้การเกษตร จ.ราชบุรี พบพาราควอตปลอมปน เกษตรกรสมาชิกศูนย์ฯ หลงเชื่อว่าทำจากสมุนไพร ซื้อไปกำจัดวัชพืช หวังปลอดภัย แท้จริงถูกหลอก
น.ส.เสริมสุข สลักเพ็ชร์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ลงนามในผลตรวจสารบรรจุในแกลลอน ซึ่งเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองส่งให้ตรวจสอบ โดยระบุว่าเป็นสารที่หมอดินดีเด่น ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ชาวบ้านที่ศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตร หมู่ 6 ตำบลแพงพวย อำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี อ้างว่า คิดค้นขึ้นจากการนำสารสกัดสมุนไพรมาหมักจนกลายเป็นจุลินทรีย์ อ้างสรรพคุณว่า ใช้ทดแทน “พาราควอต” ได้ จากการตรวจสอบสารออกฤทธิ์ในห้องปฏิบัติการพบว่า สารที่บรรจุในแกลลอน ชื่อการค้า A+777 เครื่องหมายการค้า ตรานาคเขียว มีพาราควอตไดคลอไรด์ปนอยู่ 2.49% ซึ่งกรมวิชาการเกษตรได้ขอให้เครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองแจ้งสถานที่จำหน่าย เพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ทั้งนี้ จากข้อมูลของเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลองนั้น ศูนย์เรียนรู้ดังกล่าวมีวุฒิสมาชิกเป็นกรรมาธิการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำมาเยี่ยมชมเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2562 พร้อมกล่าวชื่นชมความสามารถของหมอดินผลิตสารดังกล่าว อีกทั้งระบุว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์สมควรสนับสนุนการใช้สารอินทรีย์กำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านแทนสารเคมี
ทางเครือข่ายอาสาคนรักแม่กลอง ระบุว่า จากกระแสต่อต้านการใช้สารเคมีทางการเกษตรโดยเฉพาะพาราควอตและไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารกำจัดวัชพืช รวมถึงคลอร์ไพริฟอส สารกำจัดศัตรูพืช ทำให้เกษตรกรจำนวนมากหันไปใช้สารที่ผู้ผลิตอ้างว่า เป็นสารอินทรีย์หรือชีวภัณฑ์ มีฤทธิ์กำจัดวัชพืชและศัตรูพืชเทียบเท่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิด เกษตรกรหลงเชื่อจำนวนมาก โดยคิดว่าใช้แล้วจะปลอดภัย ไม่ทราบว่าถูกหลอกลวง ขณะที่กรมวิชาการเกษตรยืนยันว่าสารชีวภัณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตรผ่านการประเมินคุณสมบัติไม่มีสารพิษตกค้างในผลผลิตและสิ่งแวดล้อม 73 ทะเบียน โดยเป็นสารกำจัดศัตรูพืช แต่ยังไม่มีสารกำจัดวัชพืชที่ขึ้นทะเบียนให้แต่อย่างใด.-สำนักข่าวไทย