ชัยภูมิ 20 ม.ค.-ขณะที่หลายพื้นที่ประชาชนขาดแคลนน้ำทำการเกษตรและน้ำอุปโภคบริโภคในช่วงหน้าแล้ง แต่พื้นที่ตำบลท่าใหญ่ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ เกือบทั้งตำบลไม่มีปัญหาการขาดแคลนน้ำ เพราะมีการบริหารจัดการน้ำลงดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน จนเห็นผลมาตลอด 3 ปี
สภาพความแห้งแล้งที่ปรากฏกับต้นไม้ใบหญ้า ปกคลุมพื้นที่ตำบลท่าใหญ่ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ ไม่ต่างจากพื้นที่อื่นๆ แต่สิ่งที่ไม่เหมือนพื้นที่แห้งแล้งทั่วไปคือชาวบ้านที่นี่มีน้ำทำการเกษตรและน้ำอุปโภคบริโภคเกือบทั้งตำบล แนวคิดการบริหารจัดการน้ำลงใต้ดิน หรือธนาคารน้ำใต้ดิน คือสิ่งที่ อบต.ท่าใหญ่ นำมาแก้ปัญหาภัยแล้งได้เป็นอย่างดีตลอด 3 ปีที่ผ่านมา โดยธนาคารน้ำใต้ดินแบบเปิดคล้ายการขุดบ่อน้ำทั่วไป แต่ต้องเลยชั้นดินเหนียวให้ถึงชั้นหินอุ้มน้ำ ความลึกราว 5-10 เมตร เพื่อส่งน้ำไปกักเก็บไว้ใต้ดิน ผ่านกระบวนการดูดซึมของหินใต้ผิวดิน มีการปรับมุมและทิศทางการไหลของน้ำให้เข้าบ่ออย่างสะดวก
พื้นที่แถบนี้แล้งหนักติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว แต่บ่อนี้ขุดลงไปเพียง 5 เมตร ก็มีน้ำออกมาให้เจ้าของได้สูบทำการเกษตร ปัจจุบันมีบ่อเปิดธนาคารน้ำใต้ดินในพื้นที่ตำบลท่าใหญ่ 14 บ่อ ขุดเพิ่มอีก 9 บ่อ ก็จะครอบคลุมทั้งตำบล เดิมการเจาะน้ำบาดาลในแถบนี้ไม่ได้ผล น้ำอยู่ลึก แรงดันไม่พอ แต่หลังการมาของธนาคารน้ำใต้ดิน เจาะพบน้ำบาดาลจำนวนมากในรัศมีรอบบ่อ 1 กิโลเมตร จึงเป็นอีกแหล่งน้ำที่ชาวบ้านดึงขึ้นมาใช้ได้ตลอดปี
อบต.ท่าใหญ่ ยังนำธนาคารน้ำใต้ดินแบบปิดมาใช้แก้ปัญหาน้ำหลาก น้ำท่วมขังในชุมชน โดยขุดหลุมลึกราว 1 เมตรครึ่ง ปักท่อ PVC ลงไปเป็นปล่องอากาศ ปูพื้นด้วยยางรถยนต์ หินขนาดใหญ่ คลุมด้วยตาข่ายกรองเศษวัสดุไม่ให้ปิดหน้าดิน ปิดทับด้วยเศษหินขนาดเล็ก ล่าสุดกระจายไปตาม 11 หมู่บ้าน เป็นอีกหนึ่งช่องทางเติมน้ำลงใต้ดิน.-สำนักข่าวไทย