กรุงเทพฯ 6 ม.ค. – คมนาคมเตรียมเสนอพิพาททางด่วนเข้า ครม. 28 ม.ค.นี้ ก่อนยุติศึก พ่วงแลกขยายสัมปทาน 15.8 ปี ส่วนรถไฟไทย-จีน เตรียมประชุมครั้งที่ 28 ต้น ก.พ.นี้ พร้อมจรดปลายปากกาลงนามสัญญา 2.3 วงเงิน 5.06 หมื่นล้าน
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงการยุติข้อพิพาทระหว่างการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) กับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM มูลค่าหนี้ 58,873 ล้านบาท แลกกับการต่อสัญญาสัมปทานออกไป 15 ปี 8 เดือน ว่า วันที่ 6 มกราคมนี้ กทพ.ได้นัดเจรจาร่วมกับ BEM เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของคณะกรรมการมาตรา 43 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556
อย่างไรก็ตาม จากนั้นจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.พิจารณาเห็นชอบก่อนเสนอต่อคณะกรรมการตามมาตรา 43 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุน 2556 พิจารณา และส่งร่างสัญญาดังกล่าวให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบ จากนั้นจะส่งเอกสารที่จำเป็นตามมาตรา 47 พร้อมทั้งร่างสัญญาให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบวันที่ 28 มกราคมนี้
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเผยว่าการขยายอายุสัญญาสัมปทานออกไปอีก 15 ปี 8 เดือนในส่วนของสัญญาระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ( A, B, C) ที่จะสิ้นสุดวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 และทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน D ที่จะสิ้นสุดวันที่ 22 เมษายน 2570 รวมถึงโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด (C+) ที่จะสิ้นสุด 27 กันยายน 2569 เป็นให้สิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2578 พร้อมมีเงื่อนไขว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องยุติข้อพิพาทและถอนฟ้องคดีทั้งหมดทั้งที่ศาลตัดสินไปแล้วและที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีแบ่งเป็น BEM ฟ้องร้อง 15 คดี และ กทพ.ฟ้องร้อง 2 คดี คิดเป็นมูลหนี้ข้อพิพาทประมาณ 137,517 ล้านบาท รวมถึงการยกเว้นค่าผ่านทางทุกด่านตามประกาศวันหยุดประจำปีของสำนักนายกรัฐมนตรีที่มีประมาณ 19 วันต่อปีตลอดอายุสัมปทาน
นายศักดิ์สยาม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร วงเงิน 179,413 ล้านบาท ในส่วนของสัญญา 2.3 (งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและฝึกอบรมบุคลากร) วงเงิน 50,633 ล้านบาท ว่า ตามที่กระทรวงคมนาคมได้ทำหนังสือประสานไปยังนายนิ่ง จี๋เจ๋อ รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน เพื่อนัดประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน (Joint Committee หรือ JC) ครั้งที่ 28 นั้น ล่าสุดทางฝ่ายจีนได้ตอบรับการประชุมดังกล่าว คาดว่าจะมีขึ้นที่ประเทศไทยในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พร้อมทั้งจะมีการลงนามสัญญา 2.3 ในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย ในส่วนของร่างสัญญา 2.3 นั้น อยู่ระหว่างการตรวจสอบร่างฯ ของสำนักงานอัยการสูงสุด ภายหลังผ่านการพิจารณาข้อตกลงของคณะทำงานแล้ว
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ในส่วนของสกุลเงินเบื้องต้นจากการสอบถามความเห็นธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงการคลัง ธนาคารกรุงไทย และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น จะใช้เงินกู้สกุลดอลลาร์สหรัฐ (USD) ในสัดส่วน 80% ส่วนอีก 20% จะใช้เป็นเงินสกุลบาท ขณะที่อัตราแลกเปลี่ยนเงินกู้อาจจะใช้อัตราค่าเฉลี่ย โดยคิดวันที่ยื่นตั้งแต่เดือนเมษายน 2562 จนถึงวันลงนามสัญญา ซึ่งประเมินว่าเป็นอัตราที่มีความเป็นธรรมทั้ง 2 ฝ่าย และเป็นไปตามข้อเสนอของฝ่ายจีน.-สำนักข่าวไทย