กรุงเทพฯ 26 ส.ค.-รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ตอบกระทู้ ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ประเด็นความคืบหน้าระบบตั๋วร่วมรถไฟฟ้า แจงละเอียดยิบทาร์มไลน์ นำระบบตั๋วร่วมแบบ EMV มาใช้ระบบรถไฟฟ้าเกือบครบทุกสาย ในเดือนเม.ย.65 ส่วนสายสีเขียว เดินหน้าเจรจาเอกชนต่อไป มั่นใจช่วยจูงใจประชาชนใช้ระบบสาธารณะมากขึ้น
![](https://tna.mcot.net/wp-content/uploads/2021/08/S__10608654.jpg)
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ได้ตอบกระทู้ต่อสภาผู้แทนราษฎร ตามที่ นายสมเกียรติ ถนอมสินธุ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม. พรรคก้าวไกล ได้ตั้งกระทู้ถาม เกี่ยวกับความคืบหน้าระบบตั๋วร่วม งบประมาณที่ใช้ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมที่ผ่านมา และการพัฒนาระบบตั๋วร่วม EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) ที่กระทรวงคมนาคม ดำเนินการอยู่
โดยนายศักดิ์สยาม กล่าวถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับการพัฒนาระบบตั๋วร่วมของไทยที่ผ่านมา หลังจากประเทศไทย มีระบบรถไฟฟ้าเกิดขึ้น ในส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือ บีทีเอส ซึ่งเอกชนสัมปทานเดินรถจาก กทม. ในปี 2542 และมีโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ในกำกับดูแลของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ในปี 2547 ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือรถไฟฟ้าทั้ง 2 ระบบ ไม่มีการกำหนดการจัดเก็บระบบค่าโดยสารร่วมกัน แลที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2555 กระทรวงคมนาคม ขณะนั้น ก็ได้ผลักดันให้หน่วยงานในกำกับ คือ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. เร่งพัฒนา วางแนวศึกษาระบบบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม หลังจากนั้น ก็มีการยกร่างกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม การวางระบบแบ่งปันการจัดเก็บรายได้ หรือ ระบบเคลียริ่งเฮ้าส์ ของรถไฟฟ้าสายต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเสนอกฎหมายว่าด้วยการบริหารระบบจัดการตั๋วร่วม ให้ครม.พิจารณา ในปี 2561 กฎหมายดังกล่าวก็ไม่ผ่านการพิจารณา
ทั้งนี้ ปัญหาการพัฒนาระบบตั๋วร่วมที่ผ่านมา จึงสามารถแยกได้ออกเป็นปัญหาใหญ่ๆ 2 เรื่อง คือ ระบบรถไฟฟ้าของไทย มีเอกชนที่รับสัมปทานหลายราย ตั้งแต่ในอดีต จึงจำเป็นต้องใช้การเจรจา เพื่อให้เข้ามาร่วมอยู่ในระบบจัดเก็บค่าโดยสารเดียวกัน รวมทั้งประเทศไทย ก็ไม่มีกฎหมายจะไปบังคับให้เอกชนเข้าร่วมได้
อย่างไรก็ตามหลังจากเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคม ในปี 2562 ก็ได้พยายามผลักดัน การพัฒนาระบบตั๋วร่วมอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกระเบียบสำนักนายก ว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. 2563 และมีการตั้งคณะกรรมการกำกับนโยบายว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมขึ้น ซึ่งตนเป็นประธานฯ และได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือ 1. คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี 2. คณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและจัดสรรรายได้ ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการจัดเก็บค่าธรรมเนียมมาตรฐานอัตราค่าโดยสารในกรณีใช้ค่าโดยสารร่วม เพื่อทำให้นโยบายดังกล่าวเกิดผลเป็นรูปธรรม โดยกระทรวงคมนาคม ได้ผลักดัน ให้มีระบบตั๋วร่วม ที่ใช้งานได้ทุกระบบขนส่ง เพียงบัตรใบเดียว ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ ขสมก. ระบบเรือโดยสาร ร่วมไปถึงตั๋วโดยสารเครื่องบิน ซึ่งทั้งหมดจะทำกาเดินทางเกิดความสะดวกประชาชนเปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น
ส่วนความคืบหน้า ในการพัฒนา ระบบตั๋วร่วมแบบ EMV นั้น นายศักดิ์สยามกล่าวว่า การนำระบบตั๋วร่วมแบบ EMV ที่มีความนิยมใช้งานทั่วโลก ใน 60 ประเทศ 240 เมือง สำหรับประเทศไทยนั้น กระทรวงคมนาคมได้วางทาร์มไลน์ไว้ชัดเจน หลังจากที่ผ่านมาธนาคารกรุงไทย ได้เข้ามาร่วมลงทุนพัฒนาระบบอ่านบัตรจัดเก็บค่าโดยสาร
โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รฟม. ได้ทำการทดสอบตัดตั้งระบบหัวอ่านประตูทางเข้ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ที่สถานีสนามชัย และสถานีหัวลำโพง ซึ่งพบว่าระบบสามารถทำงานได้ดี และในเดือนตุลาคมปีนี้ ก็จะมีการติดตั้งให้ได้ครบทุกสถานีในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง ของ รฟม. ส่วนสายสีแดง ของการรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท.จะมีการดำเนินการเช่นกัน ในเดือนพฤศจิกายน 2564 หลังจากนั้น ในเดือนมกราคม 2565 จะมีการทดสอบระบบ โดยมีการนำกลุ่มเป้าหมายจัดเฉพาะกลุ่ม มาร่วมทดสอบการใช้งาน หลังจากนั้น จะเปิดให้บริการระบบตั๋วร่วมแบบ EMV อย่างเป็นการให้ใช้งานได้ในเดือนเมษายน 2565
“ ในอนาคต ระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด ทั้งสายสีน้ำเงิน สีม่วง สายสีชมพู และสีเหลืองที่กำลังก่อสร้าง รถไฟฟ้าสายสีแดง และรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิ้ง ก็จะมีการ นำระบบตั๋วร่วม EMV มาใช้ ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสีเขียว หรือ บีทีเอส ก็จะเจรจา กับเอกชนผู้สัมปทานต่อไป” นายศักดิ์สยามกล่าว .-สำนักข่าวไทย