ทำเนียบรัฐบาล 13 ส.ค.- นายกฯ ประชุมคอนเฟอเรนซ์ ถกการบริหารจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบ Home Isolation – Community Isolation และการนำส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา ด้าน สธ.ยืนยันยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ เร่งขยายเตียงผู้ป่วยสีแดงเข้ม ล่าสุดความต้องการสูง 5,000 เตียง
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ติดตามการบริหารจัดการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบ Home Isolation และ Community Isolation และการนำส่งผู้ป่วยกลับภูมิลำเนา
โดยที่ประชุมรายงานสถานการณ์ภาพรวมการดูแลผู้ป่วยด้วยการแยกกักตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation ในพื้นที่ กทม. ของกรมการแพทย์ จำนวนผู้ป่วยสะสมที่เข้าระบบทั้งหมด 61,376 ราย อยู่ระหว่างรับการรักษา 45,987 ราย และออกจากระบบการรักษาแล้ว 15,389 ราย
ขณะที่กระทรวงมหาดไทย รายงานข้อมูล Community Isolation ซึ่งมีทั้งหมด 4,307 แห่ง รองรับผู้ป่วย 120,581 เตียง รองรับผู้ป่วยสีเหลือง จำนวน 868 เตียง ผู้ป่วยสีเขียว 37,584 เตียง ซึ่งสามารถรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มเติม จำนวน 82,129 เตียง และ Home Isolation ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ 57,688 ราย นอกจากนี้ สถานประกอบการต่างๆ ได้จัดให้มีสถานที่แยกกักตัวในสถานประกอบการ หรือ Factory Isolation ทั้งหมด 1,683 แห่ง รองรับผู้ป่วย จำนวน 52,542 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 7,507 เตียง
สำหรับรายงานข้อมูล Community Isolation เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ทั้งในส่วนของกระทรวงการอุดมศึกษา วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงสาธารณสุข และกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 55 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 6,987 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 3,394 เตียง และรองรับผู้ป่วยได้เพิ่มเติม จำนวน 3,593 เตียง
โดยนายอนุทิน ยืนยันว่า ยาฟาวิพิราเวียร์มีเพียงพอ รวมถึงมีการรายงานต่อที่ประชุมถึงสถานการณ์เตียงผู้ป่วยสีแดงเข้มว่ามีความต้องการสูงถึง 5,000 เตียง แต่มีเพียง 1,500 เตียง และขณะนี้เต็มแล้ว จึงเตรียมการขยาย
ด้านกระทรวงคมนาคม ยืนยันว่า ขณะนี้ดำเนินการอย่างเต็มที่ โดยในพื้นที่ 7 จังหวัดอีสานใต้ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เบื้องต้นเดินทางโดยรถไฟ ย้ำว่าการเดินทางทางบกเป็นเส้นทางดีที่สุด และการขนย้ายผู้ป่วย กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงคมนาคมจะร่วมกันประสานขนส่งอย่างใกล้ชิด รวมไปถึงจะใช้บริการ บขส. เสริม โดยออกค่าใช้จ่ายให้.-สำนักข่าวไทย